ในยุคที่ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความเร่งรีบและความเครียด หลายคนอาจละเลยสุขภาพของตัวเองโดยไม่รู้ตัว “กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” เป็นหนึ่งในภัยเงียบที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน แต่หากละเลย อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงต่อชีวิต บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันภาวะอันตรายที่คุกคามหัวใจของคุณ
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดคืออะไร?
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Ischemia) เป็นภาวะที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หรือหลอดเลือดหัวใจเริ่มมีการตีบเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งภาวะนี้มักถูกเรียกว่า “ภัยเงียบ” เนื่องจากบางครั้งไม่มีสัญญาณเตือนชัดเจน ซึ่งการเกิดภาวะส่วนใหญ่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน นี้จะใช้เวลาไม่นาน อาจมีอาการเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือไม่กี่วันก็เกิดปัญหาร้ายแรงกับหัวใจได้
ยกตัวอย่างเข่น ผู้ป่วยบางคนอาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบเพียบเล็กน้อย โดยไม่รู้ตัวหรือไม่เคยได้ตรวจสุขภาพหัวใจ จากที่หลอดเลือดตีบไม่เยอะ แต่ผนังด้านในหลอดเลือดมีการฉีกขาด ซึ่งเมื่อผนังด้านในหลอดเลือดฉีดขาด ก็อาจจะทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดทันทีได้ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน ก็ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต
อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกเจ็บแน่นหรือเจ็บบริเวณหน้าอก มีอาการจุก แน่นเหมือนมีอะไรมากดมาทับที่หน้าอก บางครั้งอาจร้าวไปยังกราม คาง ไหล่ ท้อง
- เหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบและหายใจลำบาก
- นอนราบไม่ได้
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะหลังจากออกแรงหรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงาน
- อาการอื่น ๆ อาจรวมถึงคลื่นไส้ เหงื่อออกมาก หรือหมดสติในบางกรณี
- และยังมีกลุ่มที่อาจจะไม่มีอาการ หรืออาการไม่ชัดเจน เช่น คนไข้เบาหวาน ผู้สูงอายุ คนไข้โรคไต อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ชัดเจน ทำให้หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาจเข้ารับการรักษาไม่ทันท่วงที จนเกิดอันตรายถึงชีวิต
เพราะฉะนั้นหากพบอาการเปลี่ยนอปลงหรือผิดปกติจากการใช้ชีวิตโดยทั่วไป เช่น เหนื่อยผิดปกติ เพลียผิดปกติ หรือมีอาการจากที่กล่าวไปข้างต้น อย่าลังเล แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที
การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- แพทย์จะตรวจร่างกาย เช็คอาการและซักประวัติเบื้องต้น เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบผิดปกติ หรือมีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หรือเปล่า รวมถึงพิจารณาว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือเปล่า เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่
หลังจากนั้นแพทย์อาจจะให้ทำการตรวจเพิ่มเติมในห้องปฎิบัติการ ได้แก่ - การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram – EKG) เพื่อวิเคราะห์การทำงานของหัวใจและตรวจหาภาวะที่ผิดปกติ สามารถบ่งชี้เฉพาะว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันหรือไม่
- ตรวจเลือด เพื่อดูเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจว่าสูงผิดปกติไหม
- การตรวจ X-Ray ปอด เพื่อแยกโรคอื่น ๆ
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) เพื่อประเมินการตอบสนองของหัวใจเมื่อออกแรง
- การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูโครงสร้างและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Coronary Angiography) เพื่อแสดงภาพหลอดเลือดหัวใจและตรวจหาการตีบตัน
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เพื่อดูหลอดเลือดหัวใจโดยตรงและตรวจสอบการอุดตัน
การรักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
การรักษาจะแบ่งออกเป็น
- กลุ่มที่อาจจะมีปัญหาไม่ได้รุนแรงมาก ซึ่งพบได้บ่อยประมาณ 70% ในคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบทั้งหมด ส่วนใหญ่จะใช้การรักษาด้วยการใช้ยา เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือด หรือยาลดความดันโลหิตตามคำแนะนำของแพทย์
- กลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีการทำงานของหัวใจไม่ดี เช่น มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน กลุ่มที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะผิดปกติ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้น การรักษาสามารถทำได้โดย
– การใช้ยา
– การทำหัตถการเพิ่มเติม เช่น การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดหัวใจว่าตีบหรือไม่ การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน กรณีหลอดเลือดหัวใจตีบไม่เยอะ หรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ กรณีหลอดเลือดหัวใจตีบจำนวนหลายเส้นมากหรือมีการตีบที่ขั้วหัวใจ
นอกจากนี้ ยังควรต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด รวมถึงการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและติดตามค่าความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม แม้อาการอาจไม่ชัดเจน แต่สามารถส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพหัวใจได้ หากคุณมีปัจจัยเสี่ยง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสม การดูแลตัวเองด้วยวิถีชีวิตที่ดีและการรับรู้ถึงความสำคัญของหัวใจคือกุญแจสำคัญในการป้องกันภาวะนี้
หากคุณต้องการคำปรึกษาหรือการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อ ศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง เราพร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อดูแลหัวใจของคุณอย่างใกล้ชิดและครอบคลุม โทรติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาและนัดหมายล่วงหน้าได้ทันที
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
เราพร้อมให้การดูแล รักษา ป้องกันครอบคลุมโรคหัวใจทั่วไป
และโรคหัวใจในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา