บอลลูนหัวใจ..รักษาโรคหัวใจ

การทำบอลลูนหัวใจ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ การขยายหลอดเลือดหัวใจให้กว้างขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยการนำอุปกรณ์ที่คล้ายบอลลูน เข้าไปในหลอดเลือด เพื่อเข้าไปดันไขมันที่อุดตันหลอดเลือดอยู่ ให้ไปชิดกับผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลผ่านจุดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น เมื่อเลือดไหลผ่านได้ดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจได้เต็มที่มากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกก็จะน้อยลง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ปัจจุบันการรขยายหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการทำบอลลูน เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และเป็นที่นิยม เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องผ่าตัด แผลเล็ก และปลอดภัย โดยแพทย์จะทำการสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่อบอลลูนขนาดเล็กเข้าไปทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้ ผลของการรักษาจะไม่ต่างกัน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

แต่การสอดสายสวนทางข้อมืผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกสบายมากกว่า ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่เกิดจากการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ขา ไม่มีแผลที่ขาหนีบรวมถึงลดระยะเวลาพักฟื้น กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว ภายหลังทำหัตถการผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหารเองได้

ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจ

  1. แพทย์จะนัดเพื่อนอนโรงพยาบาลล่วงหน้า 1 วันก่อนที่จะทำบอลลูนหัวใจ
  2. งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการรักษา
  3. หากมีการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ยาขับปัสสาวะ หรืออินซูลิน ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบและสอบถามแพทย์ให้ชัดเจนว่าจะต้องหยุดยาหรือไม่
  4. เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำในการใช้ยา การปรับยา การจัดให้สารน้ำทางน้ำเกลือ และอาจให้ยาแก้แพ้
  5. เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดร่างกาย อาจมีการโกนขนบริเวณที่ทำ ขณะทำหัตถการ หลังปูผ้าสะอาดที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว จะมีกการหลังทาน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผิวหนังบริเวณข้อมือ หรือที่ขาหนีบ
  6. แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ซึ่งอาจเป็นบริเวณขาหนีบ ข้อมือ หรือข้อพับ
  7. แพทย์จะทำการใส่สายสวนหัวใจ มีลักษณะเป็นท่ออ่อน ที่มีบอลลูนขนาดเล็กแฟบติดอยู่บริเวณปลาย เข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจในจุดที่ตีบหรืออุดตัน
  8. เมื่อสายสวนเข้าไปถึงบริเวณที่หลอดเลือดตีบ แพทย์จะทำการต่อสายบอลลูนเข้ากับเครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อดันให้บอลลูนขยายเบียดคราบไขมันหินปูนที่เกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดให้ยุบแบนลง และขยายหลอดเลือดให้กว้างออก เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงทำให้บอลลูนแฟบเหมือนเดิม แล้วดึงสายสวนหัวใจออกจากร่างกาย
  9. ในบางกรณีแพทย์จะใส่ขดลวด หรือโครงลวดค้ำยัน ที่เรียกว่า สเต๊นท์ (Stent) เข้าไปด้วย เพื่อช่วยลดโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบใหม่ ซึ่งขดลวดชนิดนี้จะทำมาจากโลหะ หรือสารกึ่งโลหะ ที่ออกแบบพิเศษสามารถอยู่ในร่างกายคนได้ตลอดและยังมีการเคลือบยาป้องกันการตีบกลับมาใหม่ที่โครงขดลวดค้ำยัน (Stent) ซึ่งทำให้ผลการรักษาดีมากขึ้นเป็นลำดับ

โดยระยะเวลาที่ใช้โดยเฉลี่ยประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นกับความยากง่ายของหัตถการ เมื่อจบการรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ทุกอย่างจะนำออกจากหลอดเลือดผู้ป่วย ยกเว้นโครงขดลวดค้ำยัน

การตรวจรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบผ่านทางสายสวน ในปัจจุบันยังมีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เช่น สวยตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงภายในหลอดเลือด จะช่วยให้สามารถทราบขนาดที่แท้จริงของหลอดเลือด ความผิดปกติและส่วนประกอบของรอยโรค ซึ่งทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพขึ้นอีกมาก ในกรณีรอยโรคที่มีหินปูนเกาะอยู่โดยรอบ บอลลูนอย่างเดียวอาจขยายรอยตีบไม่ได้ รอยโรคเช่นนี้สามารถรักษาด้วย หัวกรอกากเพชรที่จะช่วยย่อยหินปูน ทำให้ง่ายต่อการขยายรอยตีบด้วยบอลลูนต่อไป

แม้ว่าการทำหัตถการดังกล่าว จะมีความปลอดภัย แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยเฉลี่ยประมาณ 0.2% จากการฉีดสี และประมาณ 1 % จากการขยายหลอดเลือดตีบด้วยบอลลูน ดังนั้นก่อนการตรวจรักษาวิธีนี้ การประเมินประโยชน์ที่จะได้ เทียบกับอัตราเสี่ยงที่อาจมี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์และผู้ป่วยต้องปรึกษากัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด เหมาะสมตามโรคของผู้ป่วย

จากผลการศึกษาและงานวิจัยที่มีได้ยืนยันถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและโครงลวดค้ำยัน

  1. ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบตันชนิดเฉียบพลันในกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงได้
  2. ช่วยลดอาการปวดหน้าอกในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง ทำให้คุณภาพชีวิตขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามการรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ จำเป็นต้องรักษาและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยยาและการปรับพฤติกรรมควบคู่กันไปเสมอ ทั้งก่อนและภายหลังการทำบอลลูนเพื่อป้องกันการตีบกลับมาใหม่

การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและโครงลวดค้ำยัน ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ทั้งทางด้านลักษณะความรุนแรงของโรค และโรคร่วมของผู้ป่วย รวมทั้งลักษณะของหลอดเลือด เช่น โครงสร้างของหลอดเลือด ขนาดของหลอดเลือด ตำแหน่งของรอยตีบ ปริมาณหินปูน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นแนวทางเพื่อการพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยบางราย อาจต้องผ่าตัดบายพาส หรือรักษาด้วยยาเท่านั้นแทน

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line