โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองลงมาจากโรคมะเร็ง หากรู้ตัวว่าเป็นแล้วต้องมีการดูแลตนเองเป็นอย่างดี เพื่อยืดอายุของคนไข้ให้ยาวนานขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากกระทำได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถต่อเวลาชีวิตออกไปได้
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวิทย์ พันธุ์ชัยเพชร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยแพทย์ (หัวใจและทรวงอก) ศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบให้ได้ทราบกันครับ
ปัจจัยเสี่ยง หลอดเลือดหัวใจตีบ คืออะไร?
จะแบ่งออกเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น
- เพศชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าเพศหญิง แต่หากเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ก็จะมีโอกาสเป็นได้เท่ากับเพศชาย
- ครอบครัว หรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
- กรรมพันธุ์
ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่
- สูบบุหรี่
- ไขมันในเลือดสูง
- ความดันโลหิตสูง
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีน้ำหนักมากหรืออยู่ในภาวะอ้วน
- โรคเบาหวาน
- กินอาหารไม่มีประโยชน์
- ความเครียด
สังเกตุอย่างไร ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด หรือ เสียด หรือ แน่นหน้าอกทั่วกลางหน้าอก หรือ อาจค่อนไปทางด้านซ้าย หรือ ด้านขวาได้ อาการมักร้าวไปที่กราม คอ หัวไหล่ และแขนด้านใน ท้ายทอย หรือขากรรไกร อาการมักเกิดขึ้นในขณะใช้กำลัง เพราะเป็นจังหวะที่หัวใจทำงานมาก เช่น ออกกำลังกาย เดินขึ้นที่สูง ยกของ หรือ อาจจะเกิดหลังทานอาหารอิ่มมากๆ อาการเป็นอยู่ประมาณ 2-3 นาที เป็นอย่างน้อย และมักดีขึ้นหลังจากได้พัก หรือ อมยาใต้ลิ้น ในกรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรุนแรงนานอย่างน้อย 30 นาที ร่วมกับมีเหงื่อออกท่วมตัว คลื่นไส้ อาเจียน ตัวซีดเป็นลม ในบางกรณี เช่น ผุ้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยเบาหวาน อาจไม่มีอาการที่หน้าอก แต่อาจมีอาการหอบเหนื่อย ซึม ใจสั่น เป็นลมหมดสติ
การตรวจวินิจฉัย
วิธีการตรวจวินิจฉัยจะเริ่มจากการซักถามประวัติอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับการตรวจร่างกาย หากคนไข้พบแพทย์ด้วยอาการแน่นหน้าอก หรืออาการอื่นที่กล่าวมาข้างต้น คนไข้จะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง,การเดินสายพา,การตรวจด้วยสายสวนและฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ,การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
วิธีการรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- หากหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน รักษาด้วยยา ร่วมกับการรักษาโรคที่มีร่วมด้วย
- หากหลอดเลือดอุดตันมาก หมายความว่า หลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันไปเลย ก็จำเป็นต้องฉีดสี ดูหบอดเลือดหัวใจ และทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
- หากดูแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบหลายตำแหน่ง หรือในแง่เทคนิคไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ รักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ
การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ควบคุม หรือ กำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ควบคุมเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว อาหาร เครื่องดื่ม ผ่อนคลายจากความเครียด ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา