บทความโดย
นพ.วัฒนา บุญสม
ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจวิชัยเวช
ไขข้อข้องใจ “ฉีดสีสวนหัวใจ” คืออะไร?ตรวจอะไรได้บ้าง?
หากคุณเคยไปพบแพทย์โรคหัวใจ แล้วได้รับคำแนะนำว่า “ควรฉีดสีสวนหัวใจ” คุณอาจเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า “ฉีดสีสวนหัวใจคืออะไร?” “จำเป็นแค่ไหน?” และ “อันตรายหรือเปล่า?”
สำหรับคนไข้หลายคน หัตถการทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ อาจฟังดูน่ากลัว บทความนี้จะอธิบายให้เข้าใจง่ายว่า “ฉีดสีสวนหัวใจ” คืออะไร ตรวจอะไรได้ และช่วยวางแผนการรักษาอย่างไร
ฉีดสีสวนหัวใจคืออะไร?
การฉีดสีสวนหัวใจ หรือ Coronary Angiography คือการตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยใช้สารทึบรังสี เพื่อดูว่ามีการตีบหรืออุดตันหรือไม่ ภาพหลอดเลือดหัวใจจะถูกแสดงผ่านเอกซเรย์ ช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน
เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนการตรวจท่อน้ำในบ้าน หากหลอดเลือดหัวใจมีการตีบ เลือดก็จะไหลไม่สะดวก อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
ฉีดสีสวนหัวใจ ตรวจอะไรได้บ้าง?
การตรวจนี้ช่วยวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ได้แก่:
1. ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
- ตรวจดูว่ามีจุดตีบหรืออุดตันหรือไม่
- วิเคราะห์ความรุนแรงของการตีบ
- พิจารณาความจำเป็นในการทำบอลลูนหัวใจหรือผ่าตัดบายพาส
2. ประสิทธิภาพของหัวใจ
- ดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวดีหรือไม่
- มีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่
3. ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- ตรวจหาลิ้นหัวใจรั่วหรือผิดปกติ
- ประเมินความรุนแรงของภาวะลิ้นหัวใจตีบ
4. หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด
- ตรวจหาการเชื่อมต่อหลอดเลือดผิดปกติ
- ตรวจรูปร่างของหลอดเลือดหัวใจ
ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ
การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นหัตถการที่ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 30-60 นาที มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้:
- เตรียมตัวก่อนตรวจ
- งดน้ำและอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- หยุดยาบางชนิดตามแพทย์สั่ง เช่น ยาเบาหวาน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- การใส่สายสวน
- แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ (ข้อมือ ขาหนีบ หรือข้อพับศอก)
- ใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงและนำไปยังหลอดเลือดหัวใจ
- การฉีดสารทึบรังสีและเอกซเรย์
- เมื่อสายสวนอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แพทย์จะฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อนวูบวาบ
- ภาพเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นตำแหน่งและระดับการตีบของหลอดเลือดหัวใจ
- การสรุปผล
- หากพบหลอดเลือดตีบเล็กน้อย → รักษาด้วยยา +ปรับพฤติกรรม
- หากตีบรุนแรง → พิจารณาการรักษาเพิ่มเติม เช่น บอลลูนหัวใจหรือผ่าตัด ร่วมกับการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรม
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อันตรายแค่ไหน?
ผลการศึกษา อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ในประเทศไทย อยู่ที่ 2.7-17% หรือค่าเฉลี่ยที่ 11.5% ( J Med Assoc Thai 2007;90(Supp/):1-11) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากการตรวจฉีดสีสวนหัวใจ
ฉีดสีสวนหัวใจ อันตรายหรือไม่?
โดยทั่วไปถือเป็นหัตถการที่ปลอดภัยมาก แต่ก็มีความเสี่ยงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- เลือดออกหรือติดเชื้อบริเวณใส่สายสวน (<2%)
- แพ้สารทึบรังสี ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจวาย (0.2%)
- เสียชีวิต (0.1%)
- หรืออาจต้องมีการผ่าตัดฉุกเฉิน (<0.1%)
โรงพยาบาลจะมีทีมแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์พร้อมรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
Q: ฉีดสีสวนหัวใจเจ็บไหม?
A: ขณะใส่สายสวนอาจรู้สึกตึงหรือร้อนวูบวาบเล็กน้อยจากสารทึบรังสี แต่โดยรวมไม่เจ็บมาก เพราะใช้ยาชาเฉพาะที่
Q: ต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่?
A: โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจนอนโรงพยาบาล 1 คืนเพื่อเฝ้าระวังอาการ และกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน
Q: ต้องงดยานานแค่ไหนก่อนตรวจ?
A: แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะยาเบาหวานและยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่อาจต้องหยุดชั่วคราว
Q: การฉีดสีสามารถตรวจลิ้นหัวใจได้ด้วยหรือไม่?
A: ได้ในบางกรณี โดยเฉพาะเมื่อต้องประเมินภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วร่วมกับปัญหาหลอดเลือดหัวใจ
บทความที่เกี่ยวข้อง
สรุป
การฉีดสีสวนหัวใจเป็นวิธีตรวจที่สำคัญ สำหรับผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบที่อาจมีอันตรายจากตัวโรคสูง ผลการตรวจจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าการตรวจอาจพบผลแทรกซ้อนได้ แต่ประโยชน์ที่ได้จากการรักษาอาจช่วยป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และรักษาชีวิตผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้
ตรวจหัวใจอย่างมั่นใจ
หากคุณมีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย หรือแพทย์แนะนำให้ฉีดสีสวนหัวใจ อย่ากังวลเกินไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหัวใจได้ที่ ศูนย์หัวใจวิชัยเวช โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม พร้อมเทคโนโลยีการตรวจหัวใจที่ทันสมัย และทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด
นัดหมายแพทย์เฉพาะทางหัวใจ
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา
แผนที่การเดินทาง https://maps.app.goo.gl/gfpniWd1QzeZ89p97