อาการเจ็บหน้าอก อาจจะเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ตั้งแต่ระดับธรรมดา จากการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหักโหมมากจนเกินไป หรือทรงตัวผิดท่า จนเกิดอาการเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ จี๊ดๆ ซึ่งอาการลักษณะนี้อาจไม่ใช่โรคหัวใจ หรืออาจจะเจ็บหน้าอก เมื่อออกแรง แต่เมื่อพักก็ดีขึ้น หรือเจ็บแน่นหน้าอก แบบมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย แบบนี้คือสัญญาณเตือนว่า คุณอาจจะเสี่ยง “โรคหัวใจ “
เจ็บแน่นหน้าอก จากโรคหัวใจ เกิดขึ้นจากอะไร
อาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่เกิดจากโรคหัวใจ เกิดจากภาวะที่หลอดเลือดหัวใจมีขนาดตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จนรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งหากเป็นอาการเจ็บหน้าอก ที่เกิดจากโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ ใจสั่น เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หรือเครียด หน้ามืด เป็นลม เหงื่อแตก อ่อนเพลีย คลื่นไส้
เจ็บแน่นหน้าอกแบบไหน ที่ควรรีบไปพบแพทย์
ในกลุ่มที่เร่งด่วน ซึ่งอาจจะเกิดอาการโรคหัวใจในลักษณะเฉียบพลัน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกแบบเฉียบพลัน รุนแรง
- ผู้ที่เคยมีอาการโรคหัวใจมาก่อน แต่ครั้งนี้พักแล้วไม่หาย เป็นนานเกินกว่า 20 นาที
- ผู้ที่มีอาการโรคหัวใจมาก่อน เคยเจ็บแน่นหน้าอก รุนแรงมากกว่าที่เคยเป็น
ซึ่ง 3 กลุ่มอาการนี้ อาจเข้าข่ายหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” มีอะไรบ้าง
- เจ็บหน้าอก แบบจุก ๆ แน่น ๆ เหมือนมีอะไรมากด มารัด มาทับบริเวณหน้าอก บางรายอาจจะรู้สึกร้าวไปกราม ไปไหล่ ไปแขน
- เหนื่อยง่าย หอบ เดินไปน้อยลง รู้สึกเหนื่อยขณะขึ้นบันได พูดก็เหนื่อย หรือมีเสียงดังเวลาหายใจ
- ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรืออัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
- ขาบวม เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียดได้สะดวก จากการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้ขาบวมผิดปกติ
- นอนราบไม่ได้
- บางคนอาจจะมีอาการไอตอนกลางคืน หน้ามืด อ่อนเพลียผิดปกติ และมีอาการอื่น ๆ จากข้อ 1-5 ร่วมด้วย
อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ซึ่งไม่ควรชะล่าใจ ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะความรุนแรงของภาวะโรคหัวใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นในขั้นเริ่มต้นแล้วแสดงอาการ หรือบางคนไม่แสดงอาการ พอร่างกายส่งสัญญาณเตือน คืออยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว
สิ่งที่ควรบอกคุณหมออย่างละเอียด เมื่อไปถึงโรงพยาบาล
- บอกอาการที่เป็นอย่างละเอียด เจ็บแน่นหน้าอกตรงบริเวณไหน มีปวดร้าวไปจุดอื่นหรือเปล่า หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น รู้สึกเหนื่อย หรือนอนราบไม่ได้ ตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาไอ
- มีอาการบวมหรือไม่
- อาการที่เป็น เป็นมานานแค่ไหน เป็นต่อเนื่องติดกัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ
- ครอบครัวเคยมีใครมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
- สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า บ่อยแค่ไหน
- ออกกำลังกายหรือเปล่า ปกติออกได้ระดับไหน ตอนที่มีอาการออกได้แค่ไหน
- มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
- พฤติกรรมการกินอาหาร ชอบกินอาหารแบบไหน หวาน มัน เค็มหรือเปล่า
ตรวจให้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือเปล่า
เบื้องต้นคุณหมอจะทำการสอบถามประวัติอาการเจ็บป่วย และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ถ้าคนไข้บอกรายละเอียดจากข้อมูลด้านบนได้ครบถ้วนคุณหมอก็จะสามารถประเมินปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นได้ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อหาสาเหตุของโรค และทำการรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป คลิกอ่านเพิ่มเติม โรคหัวใจตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง
เรื่องของ “หัวใจ” เป็นเรื่องใหญ่ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันความสูญเสียรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา