โรคหัวใจตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

โรคหัวใจ หรือ Heart Disease หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยโรคหัวใจมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ซึ่งการตรวจโรคหัวใจจะมีหลายรูปแบบ นอกจากนี้การตรวจโรคหัวใจอาจจะแบ่งได้จากผู้ที่เข้ามาตรวจเพราะมีอาการทางหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น เหนื่อยผิดปกติ หรือเจ็บแน่นหน้าอก , เหนื่อยง่าย, มีอาการใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หรือบางคนไม่มีอาการอะไรที่แสดงว่าเป็นโรคหัวใจ แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ประวัติเสียชีวิตฉับพลันในครอบครัว ตั้งแต่อายุน้อย ๆ โปรแกรมการตรวจคัดกรองก็จะแตกต่างกัน

การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ แพทย์มักเริ่มด้วยการตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ จากนั้นจึงพิจารณาความเป็นไปได้แล้วเลือกวิธีวินิจฉัยขั้นต่อไป ซึ่งการตรวจอาจจะแบ่งออกเป็น การตรวจพื้นฐาน และการตรวจพิเศษ

การตรวจพื้นฐาน หรือการตรวจคัดกรองโรคหัวใจเบื้องต้น

  1. การตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง ภาวะอ้วนเกินมาตรฐานหรือไม่ จับชีพจร เพื่อดูอัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นหัวใจ เช็คความดันโลหิต ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกติหรือไม่ รวมถึงการตรวจร่างกายทั้งระบบ เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ รวมถึงดูโรคอื่น ๆ ที่อาจะพบร่วมด้วย โดยจะมีการสอบถามประวัติด้านสุขภาพ เช่น ประวัติการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และนิสัยการออกกำลังกาย ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของตนเองและของบุคคลภายในครอบครัวก็เป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกัน
  1. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG หรือ ECG) เป็นการตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจบีบตัว เป็นวิธีการตรวจหาโรคหัวใจที่ง่าย ได้ผลดี ไม่เจ็บ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที

วิธีการตรวจ : แผ่นนำไฟฟ้าจะถูกวางบนหน้าอกเพื่อจับสัญญาณกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะพิมพ์ออกมาบนกระดาษกราฟ รูปแบบของสัญญาณที่สม่ำเสมอแสดงว่าหัวใจทำงานปกติ แต่ถ้ามีความแตกต่างในบางจุดของรูปแบบสัญญาณไฟฟ้าก็อาจแสดงว่ามีบริเวณหนึ่งบริเวณใดของหัวใจได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย การตรวจนี้อาจให้ผลปกติ ในภาวะที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในระยะเริ่มต้น หากสงสัยแนะนำให้ตรวจซ้ำ

  1. เอกซ์เรย์ทรวงอก หรือ เอกซ์เรย์ปอด จะสามารถมองเห็นความผิดปกติของปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  1. การตรวจเลือดประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ hs-CRP High-Sensitivity C-reactive protein คือ การตรวจเพื่อบอกถึงค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เป็นการตรวจหาระดับโปรตีนที่มีชื่อว่า C-reactive Protein (ซี-รีแอคทีฟโปรตีน) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในเลือดของ หากเซลล์อักเสบอย่างต่อเนื่องระดับ CRP ก็จะสูงตาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและพัฒนาไปสู่โรคร้ายหลายๆ ชนิดได้ เช่น มะเร็ง การเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ การตรวจลักษณะนี้เป็นการตรวจที่สพดวกและง่ายที่สุด ใช้เลือดจำนวนน้อย ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ก็รู้ผล
  1. การตรวจหาการอุดตันของหลอดเลือดแดง (ABI) เป็นการตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง ด้วยเทคโนโลยี ABI (Ankle-Brachial Index) เพื่อตรวจหาภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ที่สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคอื่น ๆ อาทิ หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ เป็นการตรวจที่ง่าย ปลอดภัย ไม่เจ็บ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ ทราบผลเร็ว มีความแม่นยำสูง ไม่เสี่ยง
  1. การตรวจหาความหนาของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ 2 ด้าน (Carotid Intima Thickness) เพื่อประเมินสภาวะของหลอดเลือด ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบในอนาคต เป็นการตรวจแบบอัลตราซาวน์ ไม่ต้องสอดใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ไม่มีผลข้างเคียง ไม่เสี่ยงต่อการสัมผัสรังสีในการตรวจวัด มีความปลอดภัยสูง ไม่เจ็บ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ทำซ้ำได้โดยไม่อันตราย
  1. การตรวจคราบหินปูนในหลอดลือดหัวใจ (Calcium Score) เป็น

การตรวจที่ชัดเจน ให้ความแม่นยำสูง ด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง 128 Slice ใช้เวลาตรวจรวดเร็วเพียง 10-20  นาที ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ ภาพที่ได้จากการตรวจจะมีความคมชัด เนื่องจากเครื่องมือมีความเร็วในการจับภาพสูงมาก สามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต็นได้ดีและจะบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้ในปริมาณที่น้อย จึงเป็นการตรวจหาภาวะเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้นในคนปกติได้ดี

 การตรวจพิเศษ จะประกอบไปด้วย

  1. การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจหาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย รูปแบบจะคล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ จะมีแผ่นตะกั่วชุดหนึ่งแปะติดกับหน้าอก มีการบันทึกในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น การเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ เร็วขึ้นเรื่อย ๆ หรือการขี่จักรยานอยู่กับที่ เมื่อออกกำลังกายจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มเร็วขึ้น และความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอก และมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้

กลุ่มที่คุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจ คือคนที่มีอาการเหนื่อย เหนื่อยผิดปกติ หรือเจ็บแน่นหน้าอก แล้วสงสัยว่ามีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเปล่า

  1. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงระบบดิจิตอลผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ ด้วยหัวตรวจชนิดพิเศษทำให้เห็นภาพของห้องหัวใจ การบีบตัวเพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ การไหลเวียนของเลือด ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรงของโรค และติดตามผลการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เจ็บ ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร สามารถทำได้ตลอดเวลา

กลุ่มที่คุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจ คือคนที่มีอาการเหนื่อย หอบ และมีอาการบวม หรือมีปัญหาเรื่องของลิ้นหัวใจตีบ หัวใจโต

  1. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องบันทึกไฟฟ้าแบบพกพา (Holter Monitor) เป็นการติดเครื่องมือบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชม. มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา กะทัดรัด สามารถพกพาไปได้ทุกที่ สามารถทำกิจกรรมทั่วไป หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เครื่องจะทำการอัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา หากมีอาการเครื่องจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้แพทย์ทราบถึงปัญหาได้

กลุ่มที่คุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจ คือ คนที่มีปัญหาใจสั่น หน้ามืด เป็นลม แต่อาจจะเป็นไม่กี่นาทีก็หาย มาโรงพยาบาลตรวจไม่พบสาเหตุ หรือผู้ที่มีอาการหัวใจเต็นผิดจังหวะ

  1. การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) เป็นการตรวจโรคหัวใจแบบเจาะลึก เพื่อดูการทำงานของหลอดเลือดของหัวใจ ที่มีความละเอียดที่สุด ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ควบคู่กับการฉีดสี ไม่มีการสอดใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในร่างกาย ใช้เวลาไม่นาน การตรวจต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง

สำหรับบางคนที่ไม่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ แต่มีครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตฉับพลันด้วยโรคหัวใจ ตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคไหลตาย กลุ่มเหล่านี้คุณหมอก็จะแนะนำให้ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยการตรวจเบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถประเมินความเสี่ยงได้

การประเมินความเสี่ยงจะเป็นการคำนวน ในรายที่ความเสี่ยงสูงเกิน 10% จะเกิดปัญหาโรคหัวใจในอนาคต ภายใน 10 ปี คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม

  1. ดูค่าหินปูนในเส้นเลือดหัวใจ โดยการทำเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ถ้าค่าหินปูนมากผิดปกติ แสดงว่าโรคเริ่มมาที่หัวใจ
  2. ตรวจดูว่าเส้นเลือดที่คอ ที่แขนขาตีบไหม เส้นเลือดที่คอตีบไหม เพราะถ้าหลอดเลือดที่แขน ขา หรือคอตีบ เส้นเลือดหัวใจก็อาจจะตีบด้วย เนื่องจากเป็นอวัยวะเดียวกัน
  3. ตรวจดูฮอร์โมนในเส้นเลือด ที่บ่งถึงการอักเสบของเส้นเลือด ถ้าตรวจเจอการอักเสบเกิดขึ้นเยอะอาจจะบ่งชี้ว่ามีปัญหาที่เส้นเลือดแล้ว คุณหมอก็จะได้ให้คำแนะนำในการดูแลที่เพิ่มขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.วัฒนา บุญสม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจวิชัยเวช รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line