โดย นพ.สุธี โรจนวิไลกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้อง ความชำนาญพิเศษผ่าตัดเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้หญิงทั่วโลก แต่ข่าวดีคือเราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม หนึ่งในวิธีที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ “การตรวจแมมโมแกรม” ถ้าคุณยังลังเลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจแมมโมแกรม บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจและมั่นใจในการดูแลสุขภาพเต้านมของตัวเองได้มากขึ้น
แมมโมแกรม (Mamogram) คืออะไร?
แมมโมแกรมคือการเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องชนิดพิเศษที่ใช้รังสีปริมาณน้อย ช่วยตรวจหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แม้ยังไม่มีอาการหรือก้อนที่สัมผัสได้
ทำไมต้องตรวจแมมโมแกรม?
- ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น: ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้
- ลดอัตราการเสียชีวิต: การพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา
- ลดความรุนแรงของการรักษา: อาจไม่ต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด หากพบและรักษาในระยะแรก
ใครบ้างที่ควรตรวจแมมโมแกรม?
- ผู้หญิงอายุ 35 ปี ควรตรวจเป็นพื้นฐาน
- ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป: ควรตรวจทุก 1-2 ปี
- ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง: เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี
- ผู้ที่พบความผิดปกติที่เต้านม เช่นคลำพบก้อน หรือเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ควรตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี
คำถามที่คนสงสัย
ถาม : หน้าอกเล็กตรวจแมมโมแกรมได้ไหม?
ตอบ : ไม่ต้องกังวลหากคุณมีหน้าอกเล็ก เพราะเครื่องแมมโมแกรมสามารถปรับให้เหมาะสมกับขนาดเต้านมได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ นักรังสีเทคนิคมีความเชี่ยวชาญในการทำให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสบายที่สุด
ถาม : ศัลยกรรมหน้าอกมาตรวจแมมโมแกรมได้ไหม?
ตอบ : ผู้ที่เคยทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกสามารถตรวจแมมโมแกรมได้เช่นกัน แพทย์และนักรังสีเทคนิคจะปรับการตรวจเพื่อให้เหมาะสมและปลอดภัย การตรวจแมมโมแกรมจะช่วยตรวจหาความผิดปกติได้แม้ในผู้ที่เสริมหน้าอกมาก่อน
ถาม : ตรวจแมมโมแกรมเจ็บไหม?
ตอบ : อาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยขณะเครื่องกดเต้านมเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน แต่ใช้เวลาไม่นาน และความรู้สึกเจ็บขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล หากรู้สึกเจ็บเกินไปสามารถแจ้งนักรังสีเทคนิคได้
ถาม : การตรวจแมมโมแกรมมีรังสีอันตรายไหม?
ตอบ : การตรวจแมมโมแกรมใช้รังสีปริมาณน้อยมาก มีความปลอดภัยสูง เทียบเท่ากับการเอกซเรย์ปอด 1 ครั้ง
ถาม : ควรตรวจช่วงไหนของรอบเดือน?
ตอบ : แนะนำให้ตรวจหลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเต้านมจะไม่คัดตึง ทำให้การตรวจสะดวกและสบายขึ้น
ถาม : การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม
ตอบ : การตรวจแมมโมแกรม ใช้เวลาไม่นาน สะดวก ผู้ที่เข้ารับการตรวจควรเตรียมตัวดังนี้
- งดทาแป้ง โรลออน หรือน้ำหอม บริเวณรักแร้และเต้านม เพราะสารเคมีเหล่านี้อาจส่งผลต่อความแม่นยำของภาพเอกซเรย์
- แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอด เพื่อความสะดวกในการตรวจ
ถาม : หลังจากตรวจแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป
ตอบ : หลังการตรวจ แพทย์รังสีวิทยาจะเป็นผู้แปลผลและแจ้งผลให้ทราบ หากตรวจพบความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การอัลตราซาวนด์ หรือการเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อยืนยันผล อย่าตกใจ ความผิดปกติไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเป็นมะเร็งเสมอไป
การตรวจแมมโมแกรม: การลงทุนเพื่อสุขภาพที่คุ้มค่า
การตรวจแมมโมแกรมไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพเต้านมที่คุ้มค่า เพื่อป้องกันโรคร้ายแรงและเพิ่มโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงที รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขมพร้อมให้บริการด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้คุณมั่นใจในการดูแลสุขภาพของตัวเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา