หัวใจโต ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่ตรวจแล้วพบว่าหัวใจมีการขยายขนาดมากกว่าปกติ โดยสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโต สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 หัวใจโตจากการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น ในนักกีฬาเนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อที่มีการสูบฉีด ก็อาจจะมีหัวใจที่โตกว่าปกติ หรือหัวใจหนากว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกกำลังกาย ภาวะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรค และหากต่อไปนักกีฬาท่านนี้ไม่ได้ออกกำลังกายแล้ว หัวใจก็อาจจะกลับมามีขนาดที่เล็กลงตามปกติได้
กลุ่มที่ 2. หัวใจโต ที่ถือว่าเป็นโรค ก็เพราะว่ามีโรคอื่น ๆ ในร่างกายผลักดันให้เกิดภาวะหัวใจโตขึ้นภายหลัง เนื่องจากหัวใจก็คืออวัยวะที่ทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และมีกล้ามเนื้อเป็นส่วนประกอบโดยรวม ดังนั้นเมื่อร่างกายมีอาการเจ็บป่วย ที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก หรือส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย ก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตตามมาได้
โดย 10 สาเหตุของภาวะหัวใจโต ประกอบไปด้วย
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือโรคภาวะน้ำในเยื้อหุ้มหัวใจผิดปกติ
- ผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
- ผู้ที่มีภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- เป็นโรคโลหิตจาง
- ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไป
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน
- ความดันโลหิตสูง ซึ่งถือเป็นหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจที่พบได้บ่อยมาก
นอกจากนี้อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งอาการแสดงออกว่ามีภาวะหัวใจโต อาจจะไม่ชัดเจน บางคนอาจจะรู้สึกถึงความผิดปกติแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน
อาการภาวะหัวใจโตเบื้องต้น ที่สามารถสังเกตได้
- หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- หายใจเร็ว
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
- ใจสั่น
- ไอโดยเฉพาะเวลานอน
- มีอาการบวม
- นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก
ดังนั้นการสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทุกคนควรใส่ใจ
สำหรับภาวะหัวใจโต หากตรวจพบในระยะต้น ๆ ก็สามารถรักษาได้ง่าย แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการของภาวะหัวใจโตต่อเนื่อง ก็อาจจะมีความเสี่ยงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากภาวะหัวใจโตที่ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอ อาจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น
- เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของหัวใจโตที่วิกฤติและรุนแรง
- เกิดลิ่มเลือดในเยื่อบุหัวใจ เพราะหากเกิดลิ่มเลือดเข้าไปในกระแสเลือด อาจเกิดการอุดตันในการไหลเวียนเลือดไปสู่อวัยวะสำคัญอื่น ๆ จนส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกตามมาได้
- หากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น เดินทางไปสู่ปอด ก็อาจจะทำให้ลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้
การตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะหัวใจโต มีอะไรบ้าง
- การตรวจรังสีปอดและหัวใจซึ่งจะบอกได้ว่าหัวใจโตหรือไม่ แต่ไม่ได้บอกสาเหตุของหัวใจโต เป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะวัดไฟฟ้าหัวใจว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จะบอกว่ากล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่ การบีบตัวของหัวใจเป็นอย่างไร อีกทั้งยังสามารถดูลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ
- การตรวจ computer scan ซึ่งจะให้รายละเอียดของหัวใจค่อนข้างมาก
- การเจาะเลือดตรวจ
- ในรายที่จำเป็นอาจจะต้องฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ และอาจต้องตัดชิ้นเนื้อหัวใจส่งตรวจ
อ่านบทความเพิ่มเติม
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา