โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะอะไรถึงเป็น

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจขาดเลือด หรือเราอาจจะได้ยินชื่อว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่ภาวะที่ผนังหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น จะทำเกิดอาการเจ็บหน้าอกและอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งการที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้น  เนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือด  เป็นผลให้ทางที่เลือดไหลผ่านแคบลง เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ  นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากเกร็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย

อาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือกลางหน้าอก อาจร้าวไปยังหัวไหล่ แขน คอ ขากรรไกร หรือหลัง บางคนอาจมีอาการเหงื่อออกมาก ตัวเย็น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไม่มีแรง ระยะเวลาของการเจ็บหน้าอก และความรุนแรงของอาการเจ็บ ขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดหัวใจว่าตีบน้อย ตีบมาก หรืออุดตัน อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ซึ่งอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบ่งให้เข้าใจง่าย ๆ เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรง โดยมักจะเจ็บหน้าอกแบบแน่น ๆ บีบ ๆ หรือหนัก ๆ ที่หน้าอกตรงกลาง หรือหน้าอกด้านซ้าย โดยอาการเจ็บหน้าอกอาจร้าวไปที่ขากรรไกรล่าง กรามหรือหัวไหล่ ท้องแขนด้านซ้าย หรือทั้งสองข้างก็ได้ มักจะเป็นไม่นานประมาณ 5-10 นาที อาการก็จะดีขึ้นหรือหาย เมื่อหยุดพัก

ระดับที่ 2 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพัก และอาการจะรุนแรงมากขึ้น เป็นนานมากขึ้นประมาณ 10 ถึง 20 นาที และเป็นบ่อยขึ้นกว่าเดิม โดยอาการอาจทุเลาลงได้เมื่อหยุดพัก หรืออาจจะไม่ดีขึ้น แต่ตรวจไม่พบมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ

ระดับที่ 3 มีอาการเจ็บหน้าอกขณะพัก โดยมักมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นรุนแรงและเป็นนานกว่า 30 นาที ขึ้นไป โดยมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย หากพบว่ามีอาการอยู่ในระดับที่ 3 ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เนื่องจากถือว่าอาการอยู่ในขั้นรุนแรงและอันตราย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (คลิกลิงค์ไปบทความสัญญาณเตือนสัญญาณหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน) และเสียชีวิตได้

ใครบ้างมีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  1. เพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
  2. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
  3. ผู้ที่สูบบุหรี่
  4. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
  5. ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  6. โรคเบาหวาน
  7. โรคความดันโลหิตสูง
  8. โรคอ้วน
  9. ขาดการออกกำลังกาย
  10. เครียด ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย
  11. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

การตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

แพทย์จะซักประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การตรวจเลือด : เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ตาย ผลเจาะเลือดจะเป็นปกติ แต่หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย ค่าเลือดที่ได้จะมีค่าสารเคมีที่สูง ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ในขั้นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  : จะมีทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักและขณะออกกำลังกาย เบื้องต้นแพทย์จะให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าขณะพัก ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ แต่กรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบน้อยคลื่นไฟฟ้าหัวใจมักจะปกติ  ซึงให้ข้อมูลได้ไม่เพียงพอจะวินิจฉัยโรค  แพทย์จะแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังเพิ่มเติมเรียกว่า “ Exercise Stress Test” ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ต้องการออกซิเจนมากขึ้น เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่สามารถนำเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น จึงช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และยังสามารถบอกความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และสมรรถภาพของหัวใจได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูโครงสร้างภายในหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจ , กล้ามเนื้อหัวใจ , เยื่อหุ้มหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจ ว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนไหนเสียหายจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมถึงบอกขนาดของหัวใจได้

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line