เจ็บแน่นหน้าอก ระวังโรคหัวใจ ต้องรีบไปพบแพทย์

อาการเจ็บหน้าอก อาจจะเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ  ตั้งแต่ระดับธรรมดา  จากการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหักโหมมากจนเกินไป หรือทรงตัวผิดท่า จนเกิดอาการเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ จี๊ดๆ ซึ่งอาการลักษณะนี้อาจไม่ใช่โรคหัวใจ หรืออาจจะเจ็บหน้าอก เมื่อออกแรง แต่เมื่อพักก็ดีขึ้น หรือเจ็บแน่นหน้าอก แบบมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย แบบนี้คือสัญญาณเตือนว่า คุณอาจจะเสี่ยง “โรคหัวใจ “

เจ็บแน่นหน้าอก จากโรคหัวใจ เกิดขึ้นจากอะไร

อาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่เกิดจากโรคหัวใจ เกิดจากภาวะที่หลอดเลือดหัวใจมีขนาดตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จนรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งหากเป็นอาการเจ็บหน้าอก ที่เกิดจากโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยหอบ ใจสั่น เจ็บหน้าอกขณะออกแรง หรือเครียด หน้ามืด เป็นลม เหงื่อแตก อ่อนเพลีย คลื่นไส้

เจ็บแน่นหน้าอกแบบไหน ที่ควรรีบไปพบแพทย์

ในกลุ่มที่เร่งด่วน ซึ่งอาจจะเกิดอาการโรคหัวใจในลักษณะเฉียบพลัน และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

  1. เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกแบบเฉียบพลัน รุนแรง
  2. ผู้ที่เคยมีอาการโรคหัวใจมาก่อน แต่ครั้งนี้พักแล้วไม่หาย เป็นนานเกินกว่า 20 นาที
  3. ผู้ที่มีอาการโรคหัวใจมาก่อน เคยเจ็บแน่นหน้าอก รุนแรงมากกว่าที่เคยเป็น

ซึ่ง 3 กลุ่มอาการนี้ อาจเข้าข่ายหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” มีอะไรบ้าง

  1. เจ็บหน้าอก แบบจุก ๆ แน่น ๆ เหมือนมีอะไรมากด มารัด มาทับบริเวณหน้าอก บางรายอาจจะรู้สึกร้าวไปกราม ไปไหล่ ไปแขน
  2. เหนื่อยง่าย หอบ เดินไปน้อยลง รู้สึกเหนื่อยขณะขึ้นบันได พูดก็เหนื่อย หรือมีเสียงดังเวลาหายใจ
  3. ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรืออัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
  4. ขาบวม เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียดได้สะดวก จากการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้ขาบวมผิดปกติ
  5. นอนราบไม่ได้
  6. บางคนอาจจะมีอาการไอตอนกลางคืน หน้ามืด อ่อนเพลียผิดปกติ และมีอาการอื่น ๆ จากข้อ 1-5 ร่วมด้วย

อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ซึ่งไม่ควรชะล่าใจ ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะความรุนแรงของภาวะโรคหัวใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นในขั้นเริ่มต้นแล้วแสดงอาการ หรือบางคนไม่แสดงอาการ พอร่างกายส่งสัญญาณเตือน คืออยู่ในขั้นรุนแรงแล้ว

สิ่งที่ควรบอกคุณหมออย่างละเอียด เมื่อไปถึงโรงพยาบาล

  1. บอกอาการที่เป็นอย่างละเอียด เจ็บแน่นหน้าอกตรงบริเวณไหน มีปวดร้าวไปจุดอื่นหรือเปล่า หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น รู้สึกเหนื่อย หรือนอนราบไม่ได้ ตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาไอ
  2. มีอาการบวมหรือไม่
  3. อาการที่เป็น เป็นมานานแค่ไหน เป็นต่อเนื่องติดกัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ
  4. ครอบครัวเคยมีใครมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
  5. สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า บ่อยแค่ไหน
  6. ออกกำลังกายหรือเปล่า ปกติออกได้ระดับไหน ตอนที่มีอาการออกได้แค่ไหน
  7. มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  8. พฤติกรรมการกินอาหาร ชอบกินอาหารแบบไหน หวาน มัน เค็มหรือเปล่า

ตรวจให้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือเปล่า

เบื้องต้นคุณหมอจะทำการสอบถามประวัติอาการเจ็บป่วย และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ถ้าคนไข้บอกรายละเอียดจากข้อมูลด้านบนได้ครบถ้วนคุณหมอก็จะสามารถประเมินปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นได้ จากนั้นจะทำการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต ตรวจเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อหาสาเหตุของโรค และทำการรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป คลิกอ่านเพิ่มเติม โรคหัวใจตรวจได้ด้วยวิธีใดบ้าง

เรื่องของ “หัวใจ” เป็นเรื่องใหญ่ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เมื่อพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันความสูญเสียรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line