โรคหัวใจ อาการ และปัจจัยเสี่ยง

หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งเป็นซ้ายและขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน ห้องล่าง โดยลิ้นหัวใจ ทุก ๆ วันหัวใจจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้งและสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน

วงจรการไหลเวียนของเลือด เกิดขึ้นได้จากแรงที่หัวใจบีบตัวส่งเลือดตามหลอดเลือดไปยังปอด เพื่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ กลับเข้ามาหัวใจ เพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สุดท้ายก็จะไหลเวียนเข้ามาที่หัวใจ ทำงานวนเวียนเป็นวัฎจักร

โรคหัวใจ หรือที่เรียกว่า Heart Disease หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้หลายกลุ่มโรค ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน ทำให้โรคหัวใจมีอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด  และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกัน

 จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อีกทั้งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี

โรคหัวใจแบ่งเป็นกลุ่มโรคหลัก ๆ คืออะไรบ้าง

 

โรคหัวใจมีกี่ชนิด

 

โรคหลอดเลือดหัวใจ

เกิดได้จากหลายสาเหตุ  แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด มักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้

โรคลิ้นหัวใจรูมาติก

โรคหัวใจรูมาติก เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก

ซึ่งโรคนี้เป็นผลมาจากการติดเชื้อคออักเสบ ลักษณะของอาการ คือ เหนื่อยง่าย เวลาออกกำลังจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไอเรื้อรัง มักไอเวลากลางคืน ไอแห้ง มีอาการใจสั่น อาจมีอาการไอเป็นเลือด เป็นลม หมดสติ เจ็บหน้าอก หลอดเลือดที่คอเต้นแรง ผอมแห้ง มีอาการบวม หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

เป็นโรคที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะบีบหรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดหนากว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตัน เป็นต้น ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

คือภาวะที่หัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ  อาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง  แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งได้แก่ ภาวะที่หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบตัน  เช่น จากภาวะหลอดเลือดแข็ง ภาวะนี้มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีไขมันและคราบหินปูนเกาะบริเวณหลอดเลือดจำนวนมาก จนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อย คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะจากห้องบน หรือที่เรียกว่า Atrial Fibrillation (AF) ซึ่งจะพบในผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิด โรคความดันโลหิตสูง และพบบ่อยในผู้สูงอายุ ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติชนิดนี้ อาจเกิดลิ่มเลือดภายในหัวใจ ลิ่มเลือดเล็ก ๆ เหล่านี้อาจหลุดลอยไปอุดหลอดเลือดเลี้ยงสมอง และเป็นต้นเหตุของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

อาการเบื้องต้น จะรู้สึกถึงผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคหัวใจ

แพทย์มักเริ่มด้วยการตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ จากนั้นจึงพิจารณาความเป็นไปได้แล้วเลือกวิธีวินิจฉัยขั้นต่อไป ซึ่งอาจเป็นการตรวจเลือด เอกซเรย์หน้าอก ตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินหรือวิ่งสายพาน การตรวจวิเคราะห์หัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography ตรวจหัวใจด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจบันทึกการทำงานของหัวใจ หรือตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ ที่ต้องระวัง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ แบ่งออกเป็น ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ กับปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ เพศ, กรรมพันธุ์ และอายุ
  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ,โรคความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง ,โรคอ้วน, ไม่ออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ , โรคเบาหวาน รวมถึงความเครียด และคนที่มีอารมณ์เป็นประจำ

การป้องกันโรคหัวใจ

การป้องกันโรคหัวใจด้วยตนเองทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจร่างกายเพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันในเลือดเป็นประจำ การรับประทานอาหารและออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ควรเน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลให้น้อย หมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ความเศร้าและความเครียดก็อาจเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้ จึงควรพยายามผ่อนคลายให้มาก รวมทั้งรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line