โรคประจำตัวที่ห้ามฉีดวัคซีนโควิด-19

หลายคนเป็นกังวล เป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคประจำตัว แพ้ยาหรือแพ้อาหารบางประเภทฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือเปล่า รพ.วิชัยเวชฯ​หนองแขมรวบรวมข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคประจำตัว หรือกลุ่มบุคคลที่ทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19

  1. ผู้ที่รับวัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เมื่อฉีดเข็มแรก ถึงขั้นช็อก ที่เรียกว่า Anaphylaxis คือจะมีอาการหายใจไม่ได้ เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ความดันตก หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภายใน 30 นาที หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข้าไป >> หากมีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง ไม่ควรฉีดเข็มที่ 2  หรือต้องเปลี่ยนชนิดของวัคซีน
  2. ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
  3. ผู้ที่กำลังเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวกำเริบ >> สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เมื่อหายป่วยแล้วเท่านั้น
  4. ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือมีอาการไม่คงที่ >> ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งโรคเรื้อรังประกอบไปด้วยโรคหลอดเลือด,โรคหัวใจ, โรคระบบประสาท,ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาคีโม โรคต่างๆ เหล่านี้หากมีอาการสงบ คงที่จึงจะสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ อาจจะต้องหยุดยาบางตัวทั้งก่อนหรือหลังฉีด
  5. ผู้ที่เจ็บป่วย มีไข้ หรือเป็นโรคปัจจุบันที่ต้องการการรักษา ผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค และผู้ป่วยที่รักษาโดยเฉพาะผู้ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล >> ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อนจนกว่าอาการคงที่ สามารถกลับบ้านได้ ถึงเข้ารีบการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากหากเข้ารับวัคซีนและมีผลข้างเคียง แพทย์จะไม่สามารถแยกได้ว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเกิดจากโรคที่เป็นอยู่ก่อน หรือเกิดจากวัคซีน
  6. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน ที่มีภาวะน้ำตาลสูงมาก หรือความดันที่ไม่สามารถควบคุมได้
  7. เป็นบุคคลที่ตั้งครรภ์ ก่อน 12 สัปดาห์ >> ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 บุคคลที่ตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์และให้นมบุตรจึงจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้
  8. ผู้ป่วยอายุมาก มีโรคประจำตัวมาก มีภาวะติดเตียง หรืออ่อนแอมาก จนแพทย์อาจจะมีการวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า >> การฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายมีภาวะอ่อนแออยู่แล้ว
  9. เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี >> ยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วงนี้

ดังนั้นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือทานยาเป็นประจำ สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ สรุปข้อสงสัยต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และดูแลรักษาอยู่มีภาวะคงที่ ถึงจะกินยาประจำ ก็สามารถให้วัคซีนได้ เช่นเดียวกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถ้าทุกปีเราสามารถให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้
  • โรคประจำตัว โรคพันธุกรรมต่างๆ เช่น ธาลัสซีเมีย ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ยาที่รับประทานประจำ ก็ให้คงรับประทานยานั้นเหมือนปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องงดยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
  • การกินยากดภูมิต้านทาน ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ เพียงแต่ภูมิต้านทานจะขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากจะมีการตอบสนองต่อวัคซีนไม่ดี เท่ากับผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายปกติ ถ้าจะหยุดยาก่อนควรปรึกษาแพทย์เพราะในบางครั้งถ้าหยุดยาแล้วโรคประจำตัวที่เป็นอยู่กำเริบก็ไม่ควรหยุด ฉีดดีกว่าไม่ฉีดถึงแม้ภูมิคุ้มกันจะต่ำ ก็สามารถไปฉีดเพิ่มทีหลังได้ โรคต่าง ๆ ที่ต้องได้รับยากดภูมิ เช่น โรค SLE ,โรครูมาตอยด์,หรือการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิต่าง ๆ
  • ผู้ป่วย  HIV ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ยกเว้นแต่มีอาการ หรือ cd4  น้อยกว่า 200  ควรเข้ารับการรักษาเสีย ให้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

**สิ่งที่กังวลสำหรับผู้ที่ใช้ยากดภูมิหรือผู้ป่วย HIV คือ การฉีดวัคซีนเชื้อเป็น เนื่องจากวัคซีนประเภทเชื้อเป็น จะสามารถแบ่งตัวและเกิดเป็นโรคขึ้นมาได้ แต่วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวไม่มีตัวไหนเลยที่เป็นเชื้อเป็น ทุกตัวไม่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นคนไข้กลุ่มที่ใช้ยากดภูมิหรือคนไข้ HIV จึงสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้**

  • ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือด สามารถกินยาต่อไปได้ แต่ควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ และหลังฉีดวัคซีน จะต้องกดรอยฉีดให้นาน 5-10 นาทีเพื่อลดอาการช้ำ และป้องกันอาการเลือดออกบริเวณที่ฉีดวัคซีนได้ ถ้าไม่กดอาจเกิดปัญหามีก้อนเลือดอยู่บริเวณที่ฉีด แต่ถ้ากดไว้ก็จะไม่พบปัญหานั้น
  • ผู้ที่ทานชา กาแฟ รวมถึงน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนอยู่เป็นประจำทุกวัน ก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แต่แนะนำว่า ไม่ควรทานชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในวันที่เข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว และบีบเส้นเลือด อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ และเนื่องจากจะเป็นการช่วยแยกอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หากฉีดวัคซีนแล้ว มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว จะได้สามารถแยกได้ว้าเกิดจากวัคซีน ไม่ใช่จากตัวคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟ
  • ผู้ที่ทานยาบีบเส้นเลือด เช่น ยารักษาปวดหัวไมเกรน ถ้าหยุดได้ก็ควรจะต้องหยุด ถ้าปวดหัววันนั้นและหยุดไม่ได้ ก็เลื่อนวันฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อน

ข้อแนะนำเมื่อต้องไปฉีดวัคซีน

เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำในวันที่ฉีดวัคซีน ควรพักผ่อน รับประทานอาหาร ทานน้ำให้เพียงพอ ผ่อนคลาย ไม่มีอะไรน่ากังวลหรือตื่นเต้น การฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็เหมือนการเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะหากมีความกังวลจากการได้รับข่าวสารที่เกิดจริง ในวันที่ฉีดวัคซีน เมื่อเกิดความกลัว ความดันโลหิตอาจสูง หลังการฉีดอาจเป็นลม ซึ่งไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่เกิดจากความกลัว เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็เหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่มีอะไรน่ากังวล

 

ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
 02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line