โดย นพ.ปพน หิรัญญโชค
แพทย์ประจำศูนย์กระดูกและข้อ ความชำนาญพิเศษผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม
เคยไหม? นั่งนาน ๆ แล้วลุกขึ้นมารู้สึกสะโพกขัด ๆ หรือเดินไปสักพักแล้วมีอาการปวดบริเวณขาหนีบจนต้องหยุดพัก บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติของอาการเมื่อยล้า แต่จริง ๆ แล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณของ “ข้อสะโพกเสื่อม” ได้
อาการปวดสะโพกแบบไหนที่ต้องระวัง?
อาการปวดสะโพกมีหลายแบบ บางแบบแค่เมื่อย ๆ หายเองได้ แต่บางแบบเป็นสัญญาณเตือนของข้อสะโพกเสื่อม อาการปวดสะโพกมักจะมีอาการปวดบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง
ลองเช็กดูว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า
- ปวดที่ขาหนีบ – จุดนี้คือจุดหลักที่มักปวดเมื่อข้อสะโพกเริ่มเสื่อม ต่างจากอาการปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบทั่วไปที่มักปวดด้านนอกของสะโพก
- ปวดเวลาขยับ – ถ้าเดิน ลุกนั่ง หรือบิดตัวแล้วรู้สึกสะโพกติด ๆ หรือปวด อาจเป็นสัญญาณว่ากระดูกอ่อนเริ่มสึกหรอ
- ปวดตอนเช้าหรือลุกขึ้นยืนหลังจากนั่งนาน ๆ – คล้ายกับอาการของข้อเข่าเสื่อม ถ้าสะโพกรู้สึกตึงหรือปวดขณะเริ่มขยับ อาจเป็นเพราะข้อสะโพกเริ่มมีปัญหา
- ขาสั้นลงหรือเดินกะเผลก – หากข้อสะโพกเสื่อมมากขึ้น กระดูกอาจผิดรูป ทำให้ความยาวขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน ส่งผลให้เดินผิดปกติ
อะไรเป็นสาเหตุของข้อสะโพกเสื่อม?
หลายคนอาจคิดว่าแค่คนแก่เท่านั้นที่เป็น แต่จริง ๆ แล้ว ข้อสะโพกเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น – อายุเยอะ กระดูกอ่อนก็ค่อย ๆ เสื่อม
- หัวสะโพกตาย -จากการกินยาสเตียรอยด์เยอะ ๆ ดื่มแอลกอฮอล์
- การใช้งานสะโพกหนักเกินไป – เช่น การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูง หรือการยกของหนักบ่อย ๆ
- น้ำหนักตัวมาก – ยิ่งน้ำหนักเยอะ ข้อสะโพกยิ่งต้องรับภาระหนัก ทำให้เสื่อมเร็วขึ้น
- พันธุกรรมหรือโรคประจำตัว – เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือกระดูกสะโพกผิดรูปตั้งแต่เกิด
- อุบัติเหตุหรือกระดูกหัก – เคยหกล้มแรง ๆ หรือเคยกระดูกสะโพกหัก ก็เสี่ยงต่อข้อสะโพกเสื่อมเร็วขึ้น
ปวดสะโพกธรรมดา vs. ปวดสะโพกเสี่ยงข้อเสื่อม
ลองเปรียบเทียบง่าย ๆ ระหว่างอาการปวดสะโพกทั่วไปกับอาการที่อาจบ่งบอกถึงข้อสะโพกเสื่อม
เสื่อม
ลักษณะอาการ | ปวดสะโพกทั่วไป | ปวดสะโพกเสี่ยงข้อเสื่อม |
ตำแหน่งปวด | มักปวดกล้ามเนื้อด้านนอกสะโพก | ปวดในขาหนีบหรือข้อสะโพก |
เวลาปวด | หลังออกกำลังกายหรือใช้สะโพกหนัก | ปวดเวลาเดิน นั่งนาน ๆ หรือช่วงเช้า |
หายเองได้ไหม? | มักดีขึ้นเมื่อพักหรือยืดกล้ามเนื้อ | อาการอาจแย่ลงเรื่อย ๆ |
ส่งผลต่อการเดินไหม? | ส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อการเดิน | อาจเดินกะเผลกหรือรู้สึกข้อขัด |
วิธีรักษาและดูแลตัวเอง
หากเริ่มมีอาการที่เข้าข่ายข้อสะโพกเสื่อม ไม่ต้องตกใจ ยังมีวิธีช่วยชะลอและบรรเทาอาการได้
- ปรับพฤติกรรม – หลีกเลี่ยงการนั่งงอขานาน ๆ หรือนั่งพับเพียบ ลดน้ำหนักหากจำเป็น
- ออกกำลังกายให้เหมาะสม – เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือโยคะ เพื่อลดแรงกระแทกที่ข้อสะโพก
- กายภาพบำบัด – บริหารกล้ามเนื้อรอบสะโพกให้แข็งแรง ช่วยพยุงข้อสะโพก
- กินอาหารบำรุงกระดูก – เช่น แคลเซียม วิตามินดี และคอลลาเจน
- ใช้ยาแก้ปวดหรือลดการอักเสบ – ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก – เป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ข้อสะโพกเสื่อมรุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
ถ้าต้องผ่าตัดข้อสะโพกเสื่อม กี่วันถึงกลับมาเดินได้
ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ หลังจากผ่าตัด คนไข้ก็จะสามารถกลับมาเดินได้ภายใน 1-2 วันแรก
อย่าปล่อยให้ปวดสะโพกทำให้ชีวิตติดขัด
หากเริ่มมีอาการปวดสะโพกที่ผิดปกติ อย่ามองข้าม เพราะข้อสะโพกเสื่อมไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ค่อย ๆ สะสมเป็นเวลานาน การดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยชะลออาการและหลีกเลี่ยงการผ่าตัดได้
ถ้าปวดสะโพกแค่ชั่วคราว อาจเป็นเพียงอาการเมื่อยล้าทั่วไป แต่ถ้าปวดเรื้อรังหรือเริ่มมีอาการขัด ๆ เดินไม่สะดวก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจ ดีกว่ารอให้อาการรุนแรงจนแก้ไขได้ยาก!
เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา