กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA น่ากังวลแค่ไหน

เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า วัคซีนในกลุ่ม mRNA  เป็นวัคซีนที่ประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงมาก  ซึ่งปัจจุบันวัคซีนกลุ่มนี้ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ผลข้างเคียงส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่ก็ยังมีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงบางอย่าง ที่อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ข้อกังวลดังกล่าวมีความน่ากลัวมากน้อยแค่ไหน แล้วใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง อาการที่น่าสังเกตมีอะไรบ้าง และหากสงสัยว่าจะเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวหลังการฉีดวัคซีน mRNA ต้องทำอย่างไร รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขมไขข้อกังวลใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ให้ทราบครับ

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน mRNA ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการศึกษาพบว่า พบได้น้อยมาก จาก 300 ล้านโดสที่มีการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ทั่วโลก CDC หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา รายงานว่ามีเพียง 300 กว่ารายเท่านั้นที่เกิดผลข้างเคียงนี้และเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยที่แน่นอน

ทำความรู้จัก “เยื่อหุ้มหัวใจ” และ “กล้ามเนื้อหัวใจ”ปกติหัวใจ จะประกอบไปด้วยโครงสร้าง 3 ชั้น

  • ชั้นนอกสุด คือ เยื่อหุ้มหัวใจ
  • ชั้นกลางคือ กล้ามเนื้อหัวใจ
  • ชั้นในสุด คือ ลิ้นหัวใจและเยื่อหุ้ม

เยื่อหุ้มหัวใจ จะประกอบไปด้วยชั้นเซลล์บาง ๆ และน้ำหล่อลื่น โดยมีหน้าที่ปกป้องหัวใจให้ไม่ขูดขีดกับอวัยวะต่าง ๆ และทำให้หัวใจสามารถเต้นได้สะดวก หากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จะทำให้หัวใจเต้นไม่สะดวก มีอาการเหนื่อย หรืออาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นตัวหลักของกลไกการบีบและคลายตัวของหัวใจ เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ จะทำให้รู้สึกเจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ใจหวิว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากรุนแรงอาจให้ให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

ซึ่งการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย เพราะฉะนั้นอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการฉีดวัคซีน mRNA เท่านั้น แต่สามารถเกิดได้จากเชื้อไวรัสโควิด-19 เองได้เช่นเดียวกัน

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
จากการศึกษาพบว่าอาการนี้พบใน

  • เพศชาย มากกว่าเพศหญิง
  • ช่วงอายุที่พบมากที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 12-17 ปี รองลงมาคือ 18-24 ปี

อาการที่ควรสังเกต หากเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจหอบ
  • เหนื่อยง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • ใจสั่น

พบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่จะพบภายใน 7 วันหลังได้รับวัคซีน โดยพบมากหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งสามารถรักษาหายได้

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

 

ข้อแนะนำ

  • หากมีอาการดังกล่าวภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
  • กรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
  • ถึงแม้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จะมีผลข้างเคียงดังกล่าว แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก ซึ่งสามารถหายได้เอง โดยแพทย์จะทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนนั้นมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีน

หากมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเมื่อไปพบแพทย์จะได้รับการตรวจอะไรบ้าง

  • ตรวจร่างกาย
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG
  • เจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งหากมีอาการมาก แพทย์อาจจะพิจารณาการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
  • การเอ็กซ์เรย์ทรวงอก
  • การตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram)

 

ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
 02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line