อาการนิ้วล็อค เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้นิ้วหรือมือทำงานมาก ๆ ภาวะนิ้วล็อค เป็นพูดง่าย ๆ คือ เป็นอาการล็อคของนิ้ว เมื่อเกิดการกำมือหรือแบมือ หรือกำนิ้วแล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ตามปกติ
มารู้จักองค์ประกอบสำคัญภายในนิ้วเรากันก่อน
การที่คนเราสามารถเคลื่อนไหวนิ้ว กำมือ หรือแบมือได้ เส้นเอ็นมีส่วนสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นเชือก ซึ่งทำหน้าที่ดึงนิ้วให้สามารถงอเข้าหรือเหยียดออกได้ นอกจากเส้นเอ็นแล้ว บริเวณนิ้วยังมีปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำหน้าที่เหมือนเป็นรอก คือเป็นทางผ่านให้เส้นเอ็นมีการเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ซึ่งปลอกหุ้มเส้นเอ็น จะมีอยู่หลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่มักมีปัญหาและทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค มักจะเป็นปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณโคนนิ้ว ใกล้กับฝ่ามือ ปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณนี้มักมีอาการอักเสบ ตีบแคบลง ทำให้เส้นเอ็นค้ำอยู่ในปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้คล่องตัวเป็นปกติ จนบางครั้งเส้นเอ็นอาจจะอักเสบตามไปด้วย จากการถูกหรือครูดกับปลอกหุ้มเส้นเอ็น
ใครเสี่ยง ที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคได้บ้าง
- ผู้สูงอายุ เพราะเกิดจากการใช้งานมืออย่างหนักมาเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นเสื่อมสภาพหรือเปื่อยยุ่ย
- กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ที่อาจจะมีความเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานจะทำให้เส้นประสาท และเส้นเลือดส่วนปลายเสื่อม ส่งผลให้สารอาหารที่ส่งไปเลี้ยงเส้นเอ็นไม่ดี หรือผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่มีผลต่อเส้นเอ็น
- จากสถิติมักพบปัญหานิ้วล็อคในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงอาจมีภาวะของเส้นเอ็น ที่มีความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพได้มากกว่าผู้ชาย
- ผู้ที่มีการใช้งานมือที่ผิดปกติ อาจจะพบได้ตั้งแต่วัยรุ่น หรือวัยทำงาน มีการกำมือที่แรงมากเกินไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เล่นเกมกด เกมคอมพิวเตอร์ จะมีการเกร็งนิ้วมือหรือข้อมือตลอดเวลา หรือผู้ที่ทำงานเยอะ เขียนหนังสือเยอะๆ มีการกำดินสอหรือปากกาที่แน่นเกินไปหรือผิดวิธี ก้อาจจะมีโอกาสเกิดอาการนิ้วล็อคได้ นอกจากนี้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนมาก ๆ มีการกดผิดวิธี กดแรงเกินไป หนักเกินไปก็สามารถเกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดบริเวณนิ้วโป้ง
4 ระยะอาการนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะตามความรุนแรง
ระดับที่ 1 นิ้วยังไม่มีการล็อค กำหรือแบมือ ใช้งานมือในการหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ แต่นิ้วมือจะรู้สึกฝืดเวลาเหยียด หรืองอนิ้วมือในตอนเช้า หรือช่วงที่อาการเย็น หรืออาจจะเริ่มรู้สึกปวดเล็กน้อยบริเวณโคนนิ้ว
ระดับที่ 2 จะเป็นระยะที่ปลอกหลอกหุ้มเส้นเอ็นตีบแคบลงมากขึ้น การกำมือหรือแบบมืออาจจะเริ่มรู้สึกมีอาการสะดุดเล็กน้อบ นิ้วมืออาจมีเสียงดังเวลางอและเหยียด แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมืองอและเหยียดได้ตามปกติ มีอาการปวดที่โคนนิ้วแต่ไม่มาก
ระดับที่ 3 เป็นระยะที่ยังพอกำมือได้ แต่อาจจะมีเสียงดังกึกเวลางอและเหยียด นิ้วมือเริ่มล็อค เนื่องจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นเริ่มหนาตัว ทำให้ตีบแคบลงไปอีก ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาช่วยเหยียดออก และจะเริ่มรู้สึกว่าปวดมากขึ้น
ระดับที่ 4 นิ้วมือจะล็อค เนื่องจากปลอกหุ้มเส้นเอ็นหนาจนตีบแคบมากที่สุด เส้นเอ็นไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ ทำให้ข้อนิ้วติด กำมือไม่ได้ หรือไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เลย
ซึ่งนิ้วมือที่มักจะเกิดอาการล็อค มักจะเจอบริเวณนิ้วหัวแม่มือ รองลงมาจะเป็นนิ้วนาง ต่อมาคือนิ้วกลาง ที่พบได้มากที่สุด
การรักษาอาการนิ้วล็อค
จะรักษาตามอาการใน 4 ระยะ
- วิธีการบรรเทาอาการนิ้วล็อคในเบื้องต้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการนิ้วล็อคอยู่ในระยะไหนก็ตาม นั่นคือการหยุดใช้งานมือเป็นลำดับแรก เนื่องจากถ้าเริ่มมีอาการนิ้วล็อค และยังมีการใช้แรงของมือมาก ๆ เช่น กำ หรือถือของหนัก ๆ ยิ่งจะทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นมีอาการอักเสบและหนาตัวเพิ่มมากขึ้น อาการนิ้วล็อคก็จะเป็นหนักมากขึ้น
- การรักษาอาการนิ้วล็อคในระยะแรก อาจเป็นการรักษาโดยการประคบร้อน หรือแช่น้ำอุ่น หลังจากนั้นให้งอหรือเหยียดนิ้วช้า ๆ หรือหากมีอาการปวดมาก อาจต้องใช้มืออีกข้างนึงมาช่วยกำหรือแบ แต่ไม่ต้องออกแรงแต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบวมแดงของนิ้วร่วมด้วย ยังไม่แนะนำให้ประคบร้อนหรือแช่น้ำอุ่น แต่อาจจะต้องมีการกินยาลดการอักเสบ หรือต้องมีการประคบเย็นร่วมด้วย
- นอกจากนี้ ยังสามารถลดการอักเสบจากอาการนิ้วล้อค โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ ที่เปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นพลังงานความร้อน หรือการใช้พาราฟิน ลักษณะเหมือนเป็นไข แล้วให้มือที่มีอาการนิ้วล็อคจุ่มลงไปในพาราฟิน ก็จะเป็นอีกวิธีในการเพิ่มความร้อนอีกวิธีหนึ่ง
- แต่หากผู้ป่วยมีอาการนิ้วล็อคในระยะรุนแรง เช่นระยะที่ 3 หรือ 4 จะจะรักษาโดยการใช้แหวนสวมเพื่อไม่ให้คนไข้งอนิ้วมากเกินไป
- หรือคุณหมออาจจะแนะนำให้ฉีดยา สเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณโคนนิ้วมือ แต่หากฉีดยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะแนะนำการรักษาในรูปแบบของการผ่าตัด
- การรักษาแบบการผ่าตัดจะมี 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีมาตรฐาน โดยฉีดยาชาเฉพาะที่มีแผลผ่าตัด เพื่อกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น เสร็จแล้วกลับบ้านได้ แต่หลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสแผล ประมาณ 2 สัปดาห์
- การรักษาแบบใช้เข็มเขี่ย หรือสะกิดโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออกผ่านผิวหนังแทบไม่มีแผลให้เห็นล
อาการนิ้วล็อคเป็นอาการที่พบได้บ่อยและสร้างความเจ็บปวดให้กับคนไข้ได้เยอะมาก แต่ข้อดีคือ สามารถป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้ หากรู้ว่าเกิดอาการนิ้วล็อคแล้วนั้น ควรทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา