โรคหัวใจแบบไหน เสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด

โรคหัวใจมีหลายประเภท แต่ถ้าพูดถึงโรคที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด นพ.วัฒนา บุญสม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม กล่าวว่า สถิติแทบทั่วโลกเลย โดยเฉพาะประเทศไทย คือโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน หรือบางครั้งจะได้ยินว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Heart Attack 

เราจะได้ยินข่าวว่ามีดารา หรือบางคนที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตฉับพลันด้วยภาวะนี้ บางคนอายุยังน้อย ไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจมาก่อน หรือบางคนแข็งแรง ออกกำลังกายตลอด พอใช้แรงมาก ๆ ไปวิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายแล้วเสียชีวิต  แต่ปรากฎว่าเมื่อนำส่งโรงพยาบาลกลับได้รับการวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นเพราะ “กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” เป็นการเสียชีวิตแบบกระทันหันไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน ถือเป็นภัยเงียบที่ควรรู้จักเพื่อที่จะปฏิบัติตนให้เหมาะสมในการลดความเสี่ยง

เพราะฉะนั้นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่นาที สิ่งที่เราต้องทำ คือ  สังเกตุความผิดปกติของตัวเอง  และอย่าชะล่าใจ คิดว่าไม่เป็นอะไร อาการอาจจะเริ่มต้นมาจาก แน่นหน้าอก, อาจจะร้าวไปกราม ไปไหล่ หรือมี

เหงื่อแตก ใจสั่น ถ้าไม่สังเกตุตัวเอง อาจจะคิดว่าเดี๋ยวพักนึงก็หายไป ไม่เป็นมาอีก แต่ว่าอาการลักษณะนี้พอเป็นแล้ว อาจจะเป็นซ้ำ ถ้าเป็นมาก ๆ หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน หากไปโรงพยาบาลไม่ทัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าไปโรงพยาบาลทัน เพื่อช่วยชีวิตคุณหมอจะทำการรักษาด้วยการฉีดสี สวนหัวใจ แล้วก็ทำบอลลูนหัวใจทันที ซึ่งถ้าทำได้ทันก็อาช่วยให้รอดชีวิตได้

อีกภาวะนึงที่เจอกันแบบไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นโรคที่น่ากลัว นั่นก็คือ ไหลตาย..ไหลตาย เป็นภาวะที่ เมื่อก่อนเป็นคนงานคนไทยที่ไปทำงานที่สิงค์โปร์แล้วไปเสียชีวิตฉับพลันเวลาหลับ ซึ่งโรคกลุ่มนี้เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบบที่ต้องช็อคไฟฟ้า และปั๊มหัวใจ หากเกิดอาการแล้วนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ก็อาจเสียชีวิตได้

ถ้ามีประวัติมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคไหลตาย เมื่อไปตรวจเช็คคุณหมอพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และเริ่มมีอาการ การรักษาคุณหมอจะใส่เครื่องกระตุกหัวใจไว้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อมีอาการ เครื่องจะกระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานได้ ก็ทำให้รอดชีวิตได้

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจรุนแรงแบบนี้มากน้อยแค่ไหน และควรต้องระวังตัวมากน้อยแค่ไหน ประเด็นนี้ นพ.วัฒนา กล่าวว่า ในปัจจุบันทางการแพทย์ เราสามารถพยากรณืความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีได้  และเรายังสามารถตรวจหารอยโรคหัวใจได้ ด้วยการทำการทดสอบที่จะช่วยคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และยังช่วยเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้

การคัดกรองโรคหัวใจสำคัญอย่างไร?

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก และที่สำคัญโรคนี้สามารถรักษาและป้องกันได้ โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงอย่างชัดเจน หลังจากการดูแลรักษาที่ถูกต้อง

การตรวจคัดกรองและค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในเบื้องต้น สามารถทำให้ทราบถึงภาวะเสี่ยงของตัวเอง จะได้ดูแลป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หัวใจวาย, หลอดเลือดหัวใจตีบตัน , อัมพาต ,โรคไต ฯลฯ หรือหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที

ใครบ้างที่ควรได้รับการประเมินและตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ

โดยทั่วไปการตรวจประเมินและคัดกรองโรคหัวใจ มักเริ่มต้นเมื่ออายุเกิน 40 ปี แต่จากประสบการณ์ในการรักษา พบว่าผู้ป่วยอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้ อาจจะเพราะปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ในปัจจุบันจึงแนะนำการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด  เมื่ออายุ 18 ปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มต้น และควรประเมินความเสี่ยงดังกล่าวทุก 5 ปี หรืออาจะบ่อยกว่านั้นในรายที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

หากการตรวจประเมิน พบว่า

  • อัตราความเสี่ยงต่ำกว่า 10%  คุณหมอจะแนะนำให้ดูแลปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และควรเข้ารับตรวจประเมินเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย หรือมีอาการที่น่าสงสัย คุณหมออาจจะแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เพื่อความแม่นยำในการประเมินได้ครับ
  • อัตราความเสี่ยงสูงเกิน 10% ใน 10 ปี  คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจคัดกรองความเสี่ยงเพิ่มเติม โดยวิธีการทดสอบ เพื่อประเมินอัตราความเสี่ยงที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
  • อัตราความเสี่ยงสูงเกิน 20% ใน 10 ปี คุณหมอจะแนะนำให้มีการตรวจโรคเพิ่มเติมตามความเหมาะสม ร่วมกับการดูแลปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

เพราะฉะนั้นดูแลตัวเองวันนี้ ด้วยการประเมินความเสี่ยงและตรวจคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจได้ครับ

 

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line