ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

ความน่ากลัวของโควิด-19 นอกจากจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต นไวรัสโควิด-19 ยังไปกระตุ้นโรคเดิมที่เป็นอยู่แล้วให้อาการกำเริบ ส่งผลให้คนไข้ที่มีโรคประจำตัวและติดเชื้อโควิด อาจเสียชีวิตจากโรคเดิมที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิดถือเป็นการป้องกันความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ก็ยังมีคนไข้โรคหัวใจจำนวนมากที่สอบถามเข้ามานะครับว่า จะฉีดวัคซีนโควิดดีไหม ส่วนหนึ่งอาจจะกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรจากวัคซีนหรือเปล่า นพ.วัฒนา บุญสม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาฝากกันครับ

ผู้ป่วยโรคหัวใจฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ไหม
เชื้อโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบกับปอดเป็นหลัก ทำให้เกิดอาการปอดบวม ออกซิเจนในเลือดต่ำ มีภาวะการหายใจล้มเหลว ยังส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือดต่าง ๆ ทั้งหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำทั่วร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง หากติดเชื้อจะส่งให้ให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อที่รุนแรง ในส่วนของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจไม่ได้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไปแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนจึงมีมากกว่าความกังวลเรื่องผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น

ยาโรคหัวใจตัวไหนมีผลต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 หากทานยาโรคหัวใจอยู่ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่
จากการศึกษาพบว่าวัคซีนโควิด 19 ไม่มีปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์กับยาโรคหัวใจ แต่เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ยาบางตัวเช่นยาต้านเกล็ดเลือด หรือยา

ละลายลิ่มเลือดอาจจะมีผลทำให้โอกาสเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจจะต้องกดบริเวณที่ฉีดนานกว่าปกติ

สำหรับยาโรคหัวใจที่ควรปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด 19  ได้แก่ยาป้องกันการแข็งตัวของลิ่มเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน ยาคูมาดิน ผู้ที่ได้รับยาดังกล่าวควรมีระดับค่า INR น้อยกว่า 3.0 ก่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน คือจ้ำเลือดหรือเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19

  • ตรวจสอบอาการของโรคที่เป็นอยู่ว่ามีอาการหรือไม่ หากอาการยังไม่คงที่ควรรักษาจนหายแล้วถึงจะเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • หากมีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความดันโลหิตสูงตัวบนมากกว่า 160 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนฉีดวัคซีน โดยจะต้องควบคุมความดันโลหิตตัวบนให้ต่ำกว่า 140 มิลลิเมตรปรอทในวันก่อนมารับวัคซีน
  • หากไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ณ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเดิมที่ให้การรักษาโรคหัวใจ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ไปด้วย เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลก่อนฉีดวัคซีน
  • ไม่ควรหยุดยาประจำ ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนยาเอง
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
  • ทานน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
  • งดเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ
  • หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ควรสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น มีอาการหายใจติดขัด  เจ็บหน้าอก หรือมีการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

สิ่งที่ควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  1. มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
  2. มีไข้ในวันที่นัดฉีดวัคซีน
  3. มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
  4. ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
  5. อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
  6. ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line