โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังคงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคอาจก่อให้เกิดความพิการ บางรายรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือ เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมอง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ของหลอดเลือดในสมอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ และโรคหลอดเลือดในสมองแตก จะเกิดขึ้น เมื่อเลือดที่นำเอาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองถูกกีดขวาง ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยแบบฉับพลัน หากสมองไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยง เซลล์สมองจะเริ่มตายภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้สมองหยุดทำงานเฉียบพลัน เช่น หลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียชีวิต เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้เกิดความผิดปกติต่อสมองและระบบประสาท

หลอดเลือดสมอง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ,หลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดหัวใจ ไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
  2. หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้ปริแตกง่าย ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเกิดความเสียหายต่อสมองตามมา

ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้เกิดภาวะของโรค 3 ประเภท

1. ภาวะที่สมองขาดเลือด พบผู้ป่วยถึง 78% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีลิ่มเลือดไปอุดตันการไหลเวียนของเลือดที่ถูกส่งไปยังสมอง ซึ่งภาวะนี้มีสาเหตุมาจากลิ่มเลือดอุดตัน โดยมักจะเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ

  • เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวในเส้นเลือดที่คอ หรือสมอง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแดงแคบลง และเกิดการรวมตัวกันของไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นภายในเยื่อบุชั้นในของผนังหลอดเลือดแดง ภาวะนี้เรียกว่า โรคหลอดเลือดตีบตัน
  • เกิดจากการที่ลิ่มเลือดแตกตัวออกมาจากเส้นเลือดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และเคลื่อนไปยังสมอง ซึ่งอาจไปติดอยู่ในหลอดเลือดเล็ก ๆ บริเวณสมอง ทำให้เกิดการตีบตันได้

2. ภาวะเลือดออกในสมอง สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงในสมองหรือรอบ ๆ สมองแตก และมีเลือดไหลเข้าไปในเนื้อเยื่อสมอง ทำให้เกิดความดันในสมองมากเกินไป ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ และทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดโป่งพองในสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองแตก

3. ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งภาวะนี้เซลล์สมองจะยังไม่ตาย แต่ทำให้สมองหยุดทำงานชั่วคราว อาจจะมีอาการชั่วขณะหนึ่ง สักพักดีขึ้น เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไปเป็นระยะ หรืออาจจะเกิดจากการที่ลิ่มเลือดไปอุดหลอดเลือดสมอง แล้วกระเด็นหลุดไป ทำให้อาการดีขึ้น ซึ่งหากเป็นในระยะเวลาไม่นาน ก็จะยังไม่ส่งผลกระทบถึงการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

ใครบ้างเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองจะเกิดจากความเสื่อมของตัวหลอดเลือด ซึ่งพบในคนไข้ที่มีอายุมาก โดยทั่วไปจะพบว่าคนไข้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น แต่เนื่องในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ สามารถพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุที่กว้างขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ
  • ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคหัวใจ
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ มีรอบเอวที่มาก จะโอกาสเกิดภาวะเมตาบอลิซึมในร่างกายผิดปกติ มีการเผาผลาญน้ำตาล หรือไขมันผิดปกติ จนอาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดในร่างกายเกิดความเสียหายได้มากกว่า
  • มีภาวะหลอดเลือดบริเวณคอตีบ
  • หรือคนไข้ที่มีการใช้ฮอร์โมนบางชนิดเยอะ ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการเสื่อมได้
  • ผู้ที่พักผ่อนน้อย ทำงานหนักมากจนเกินไป

2. สาเหตุเฉพาะที่เป็นโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

  • ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิง
  • ผู้ที่ใช้คอเยอะ ๆ หรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณคอ อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งสาเหตุนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนที่อายุน้อย ๆ ได้
  • โรคทางพันธุกรรม
  • โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติบางอย่าง

อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการสับสน
  • มีภาวะพูดลำบาก ลิ้นแข็ง หรือมีความผิดปกติในการเข้าใจด้านภาษา
  • มีภาวะกลืนลำบาก ปากเบี้ยว
  • เดินเซ ทรงตัวลำบาก ใช้แขนขาได้ไม่ปกติ
  • ชาหรืออ่อนแรก ใบหน้าแขนขาครึ่งซีก
  • ตาเห็นภาพซ้อน มองเห็นครึ่งซีก หรือตามัวข้างเดียว มีภาวะตาดับ เหมือนมีม่านมาบังตา

คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดในสมองหรือไม่? สามารถทดสอบได้จากหลัก F.A.S.T คือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเกิดโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง

F : Face ใบหน้า ให้ยิงฟัน หรือยิ้ม สังเกตว่าปากเบี้ยว มุมปากตกหรือไม่

A : Arm แขน ให้ยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นนาน 10 วินาที สังเกตว่ามีแขนข้างหนึ่งตก หรือยกไม่ขึ้นหรือไม่

S : Speech การพูด ให้ลองพูดประโยคง่าย ๆ ซ้ำ ๆ สังเกตว่าพูดไม่ชัด หรือออกเสียงเพี้ยนหรือไม่

T : Time เวลา หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุดทันที เพราะทุกนาทีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าจะมีผลกระทบต่อการตายของเซลล์สมองถึง 2 ล้านเซลล์

 

ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
 02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line