เมื่อได้ยินว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น หลายคนอาจจะมีคำถามตามมาว่า แล้วเมื่อไหร่ที่ประเทศไทยจะปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น โควิด-19 จะไม่รุนแรงอีกแล้วใช่ไหม แล้วโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นที่อยู่คู่กับประเทศเราตลอดไปเลยหรือเปล่า เราจะป้องกันหรือมีชีวิตอย่างไรถ้าโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น
ก่อนที่จะไปดูมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนที่ประเทศไทยจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เรามาทำความรู้จักระดับของโรคติดต่อกันก่อน ระดับของโรคติดต่อ แบ่งได้อย่างน้อย 4 ระดับตามจำนวนผู้ป่วยที่พบ เทียบกับค่าคาดการณ์และการแพร่กระจายในเชิงภูมิศาสตร์ ได้แก่
- การระบาด (Outbreak) หมายถึง เหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยมากผิดปกติ เช่น พบผู้ป่วยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปในระยะเวลาอันสั้นหลังร่วมกิจกรรมกัน พบผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน หรือพบผู้ป่วยโรคที่ไม่เคยพบในพื้นที่นั้นมาก่อนเพียง 1 ราย ยกตัวอย่าง การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง, การระบาดของไข้เลือดออกในจังหวัดแห่งหนึ่ง
- โรคระบาด (Epidemic) หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายมากขึ้นในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในลาตินอเมริกาปี 2014, โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกาตะวันตกระหว่างปี 2014-2016 ทั้งนี้ ในทางวิชาการคำว่า Outbreak และ Epidemic มีความหมายเดียวกัน ใช้แทนกันได้ แต่คำว่า Outbreak จะหมายถึงการระบาดที่มีขอบเขตของพื้นที่แคบกว่า
- การระบาดใหญ่ (Pandemic) หมายถึง การระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เช่น ไข้หวัดใหญ่ปี 1918 หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้หวัดสเปน, ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, โควิด-19 สำหรับไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกแบ่งระยะของการระบาดใหญ่เป็น 6 ระยะ และ 2 ช่วงหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว ได้แก่ ช่วงหลังจุดสูงสุด (Post Peak) และช่วงหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic)
- โรคประจำถิ่น (Endemic) หมายถึง โรคที่มีอัตราป่วยคงที่ในพื้นที่ และมักคาดการณ์ได้ว่าส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ใด ฤดูไหน จำนวนมากน้อยเท่าไร เช่น ไข้เลือดออกในมากกว่า 100 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งพบผู้ป่วยตลอดทั้งปีและมากขึ้นในฤดูฝน ไข้มาลาเรียในทวีปแอฟริกา หากในพื้นที่นั้นมีการระบาดของโรคประจำถิ่นในระดับสูงจะเรียกว่า Hyperendemic
แล้วปัจจัยที่จะทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นมีอะไรบ้าง
- ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง
- ประชาชนมีภูมิคุ้นกันต่อโรคมากขึ้น
- ระบบบริหารจัดการ และการดูแลรักษามีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถควบคุมการระบาดได้ดี
โดยได้กำหนด 4 ระยะในการปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นดังนี้
ระยะที่ 1 Combatting : ออกแรงกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้เพื่อลดการระบาด
ระยะที่ 2 Plateau : คงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้นเป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ
ระยะที่ 3 Declining : ลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1,000-2,000 คน
ระยะที่ 4 Pandemic : ออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
มาตรการเตรียมพร้อม “โควิด” เข้าสู่โรคประจำถิ่น ด้วยการชะลอการแพร่ระบาด
- เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากว่า 60%
- ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ
- ผ่อนคลายมาตรการสำหรับเดินทางจากต่างประเทศ
- ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส
- อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยอาการปานกลางและอาการหนัก น้อยกว่า 25%
- ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทาง และการรวมตัวของคนหมู่มาก
- ดำเนินการส่งเสริมมาตรการ Covid Free Setting และ มาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด หรือ Universal Prevention
- ครอบครัวและชุมชนควรศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องการปฎิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด หรือ Universal Preventionอย่างเคร่งครัด ขณะที่หน่วยงานหรืองค์กร ควรมีการจัดการสถานที่ทำงาน สถานที่ให้บริการประชาชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ลดความแออัด มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์
เป้าหมาย 3 ด้านที่โควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น
- อัตราการป่วยตายไม่เกิน 0.1%
- ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ถูกต้อง
การที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นต้องอยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคนที่ร่วมกันฉีดวัคซีน และปฎิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เชื้อโควิดไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรง และการแพร่ระบาดของโรคลดลง
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา