ไม่เคยเป็นโรคหัวใจ ทำไมถึงเสียชีวิตกระทันจากโรคหัวใจได้

จากข่าวที่เราเห็นบ่อย ๆ ว่า หลายคนสุขภาพแข็งแรง สุขภาพดี ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เคยมีอาการว่าเป็นโรคหัวใจ กี่ปีๆ ก็ไม่เคยต้องไปหาหมอ แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งทำให้หัวใจวาย หรือเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจได้ ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เราจะเริ่มเห็นคนวัยทำงาน หรือคนที่อายุยังน้อย เสียชีวิตกระทันหันจากโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจากสถิติในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจวาย มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน จนเลือดและออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และเมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจน ผลที่ตามมาก็คือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันทีแบบเฉียบพลันเช่น ขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำงาน เล่นกีฬา ซึ่งระยะเวลา สามารถเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน

นพ.วัฒนา บุญสม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ รพ.วิชัยเวชฯ​หนองแขม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ครับ

บางคนเข้าใจว่าหลอดเลือดหัวใจที่ทำให้เกิดอันตราย หรือทำให้เสียชีวิต จะมีอาการค่อย ๆ เป็นค่อย ๆไป แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น  ความเป็นจริง หลอดเลือดหัวใจตีบ บางครั้งอาจจะตีบ 20-30% กลุ่มนี้ออกกำลังกายก็ไม่มีอาการอะไรนะครับ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น พวกนี้วิ่งมาราธอนก็ไม่มีอาการ แต่ว่าเมื่อไหร่ที่หลอดเลือดตีบมากๆ หรือเกิดมีการอักเสบเยอะ หลอดเลือดที่ตีบ บางครั้งจะมีการฉีกขาดจากผนังด้านใน ทำให้หลอดเลือดจากที่ตีบ 20-30% อาจจะอุดตันเฉียบพลัน หรืออุดตัน 100% ไปเลยก็ได้ ถ้าไปโรงพยาบาลไม่ทันก็อันตรายถึงกับชีวิต

ระยะเวลาจากตีบ 20-30% จนถึงอุดตัน อาจจะใช้เวลาไม่นาน อาจจะแค่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือใช้เวลาเป็นวัน ถ้าตอนที่เราเริ่มมีอาการแน่นหน้าอกผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีครับ ถ้าถึงมือหมอไว ดูแลทัน อาจจะป้องกันภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้

หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่า แล้วลิ่มเลือดที่เกิดจากหลุดจนเข้าไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจแบบเฉียบพลัน มาจากไหน?

ลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไปจนพอกเป็นตะกรัน (Plaque) เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน จนเมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็กผู้ป่วยจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอก แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

อาการผิดปกติ ที่ทุกคนควรสังเกตตัวเอง

  1. จะมีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตรงกลางอกและมักเป็นนานเกินนาทีขึ้นไป
  2. มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่โดยเฉพาะไหล่ซ้าย
  3. แต่ในบางคน อาจไม่มีอาการแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อยและมีเหงื่อออกมากร่วมด้วย

ซึ่งอาการแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังไว้ก่อน เพราะสาเหตุอาจจะมาจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจได้ และถ้าอาการเป็นแบบนี้ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากช้าไป มีโอกาสเสียชีวิตได้ทุกนาที ฉะนั้นเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

อีกภาวะนึงที่สามารถทำให้เสียชีวิตแบบฉับพลันได้เหมือนกัน เรียกว่า “ไหลตาย” ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อย ความน่ากลัวของโรคนี้คือการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเหมือนกัน

โรคใหลตาย เกิดจาดภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตในที่สุด สาเหตุของโรคหลัก ๆ สามารถแยกได้เป็น 2 ประเด็น

  1. การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  2. การขาดสารอาหาร วิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดีๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที

โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ คือการที่ร่างกายมีภาวะโภชนาการไม่ถูกต้องเหมาะสมและสุขนิสัยการกินที่ผิด

กลุ่มที่มีอาการของโรคไหลตาย จะเจอในคนที่มีกรรมพันธุ์  เมื่อมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วไปพบแพทย์ทัน แพทย์จะทำการปั๊มหัวใจ โดยใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้า หากคนไข้ที่เป็นโรคนี้ มีประวัติวูบหมดสติ หรือใจสั่นผิดปกติ เมื่อไปหาคุณหมอ คุณหมอจะแนะนำให้รักษาโดยการใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเสียชีวิตฉับพลันเวลาหัวใจเต้นผิดจังหวะมาก ๆ ได้ครับ

วิธีปฏิบัติตนง่าย ๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคคือ

  1. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์อาหารฟาสต์ฟู้ด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด โดยเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ
  2. อย่าปล่อยให้อ้วนจนเกินไปเพราะหากมีนํ้าหนักตัวมากหัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย จึงควรควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  3. อย่าเครียดเพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้านเช่นปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวาย จึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมอารมณ์ หากิจกรรมนันทนาการที่ชอบ เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียก เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย
  4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายนอกจากนี้ หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับนํ้าตาล ในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป

 

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line