การฉีดสีสวนหัวใจ หรือ Coronary Angiography คือ การตรวจเพื่อประเมินภาวะตีบตัน หรือตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ ดูสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ และการทำงานของลิ้นหัวใจ เพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยการฉีดสีสวนหัวใจเป็นการใช้สายสวนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร สอดเข้าไปในหลอดเลือดแดงก่อนถึงหัวใจ จากนั้นใช้สารทึบรังสีซึ่งเป็นสารไอโอดีนฉีดเข้าไปเพื่อประเมินความตีบแคบของกล้ามเนื้อหัวใจ ว่ามีจุดใดผิดปกติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย ประเมินภาวะของโรคหลอดเลือดหัวใจ และวางแผนการรักษาได้ตรงจุด
สีที่ใช้ในการฉีดคือสีอะไร
สี คือ สารทึบรังสี เป็นสารละลายใส ซึ่งเป็นสารไอโอดีน ซึ่งจะพบมากในอาหารทะเล เพราะฉะนั้นผู้ที่แพ้อาหารทะเล อาจจะมีโอกาสแพ้สีที่ฉีดได้ ดังนั้นก่อนการเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจ เมื่อพยาบาลหรือแพทย์สอบถามข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น เกี่ยวกับการแพ้ยาหรือแพ้อาหาร ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบอาการแพ้อย่างละเอียด
ประโยชน์ของการฉีดสีสวนหัวใจ
- เห็นภาพของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถประเมินและวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัวได้อย่างตรงจุด
- ทราบถึงแรงดันในเส้นเลือดว่ามีรูปแบบอย่างไร ลิ้นหัวใจมีปัญหาหรือเปล่า
- สามารถดูลักษณะความพิการของเส้นเลือดหัวใจแต่กำเนิดได้
- ทำให้ทราบว่าหัวใจหรือบริเวณอื่น ๆ ในหัวใจมีรอยรั่วหรือเปล่า
- เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก ใช้เวลาไม่นาน
- หากตรวจแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน และขดเลือดต่อได้ทันที
- มีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย
- ฟื้นตัวเร็ว นอกพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็กลับบ้านได้
โดยปกติการฉีดสีสวนหัวใจ เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ต้องทำการฉีดสีสวนหัวใจทันที แต่หากไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินหรือเร่งด่วน ก่อนเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจ ต้องมีการเตรียมตัวดังนี้
ขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนทำการสวนหัวใจ
1. แพทย์สุขภาพเบื้องต้น ได้แก่
- ตรวจเลือด
- เช็คสุขภาพเบื้องต้น
- ตรวจเช็คค่าไต เนื่องจากการฉีดสีต้องใช้สารทึบรังสี หากคนไข้มีปัญหาไตวาย อาจจะทำให้ค่าไตแย่ลง
- ตรวจหาโรคอื่น ๆ ก่อนที่จะเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจ
2. งดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างการงดอาหาร แพทย์จะให้น้ำเกลือ โดยน้ำเกลือจะช่วยให้ผลกระทบของสี ที่อาจทำให้ไตมีปัญหาลดลง
3. รับประทานยาได้ตามปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
4. รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด ตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เช่น ยา Aspirin Clopidogrel (ยกเว้นยาละลายลิ่มเลือด Warfarin อย่างน้อย 3-5 วัน)
5. ผู้ป่วยจะต้องเข้าพักที่โรงพยาบาลก่อนทำการสวนหัวใจ เพื่อทำการเจาะเลือด เอ็กซ์เรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ
6. ไม่ควรนำของมีค่า ฟันปลอม หรือโลหะต่าง ๆ เข้าห้องตรวจสวนหัวใจ
7. ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลประจำแผนก หากแพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือมีโรคประจำตัว
การฉีดสีสวนหัวใจ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นการตรวจเห็นผลลัพธ์ตรงจุด ในการประเมินภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือตีบตัน แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ดูข้อมูลคำแนะนำและการปฎิบัติตัวหลังการฉีดสีสวนหัวใจเพิ่มเติม
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา