โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่ไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มแรก กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจจะขาดเลือดและออกซิเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้กับคนที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน หรือเกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบเรื้อรังมาก่อนก็ได้
ในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคนี้มักเกิดขึ้นทันที และสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำงาน เล่นกีฬา หรือมีความเครียด แล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแบบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีคราบไขมันในหลอดเลือด แล้วเกิดการแตกเฉียบพลัน และไปกระตุ้นให้เกร็ดเลือด จับตัวเป็นลิ่ม หรือก่อตัวเป็นตะกรัน โดยหลอดเลือดเมื่อเกิดการร่อนหลุดของตะกรัน ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน สะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
สัญญาณเตือนโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
จะมีอาการจุก เจ็บแน่นหน้าอก หรือกลางหน้าอก อาจร้าวไปกราม ไปหัวไหล่ แขน คอ ขากรรไกร หรือหลัง บางคนอาจมีอาการเหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไม่มีแรง จุกคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยเร็วซึ่งจะต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยันภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ
วิธีป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมัน – กะทิ รวมทั้งไข่แดง ทำให้มีการสะสมไขมันในหลอดเลือด ก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมา
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันประเภทอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารฟาสต์ฟูด เนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน เพราะอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมากๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลาและเพิ่มความถี่ในการออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดมีระดับสูง ลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงอารมณ์เครียด เพราะความเครียดจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน เช่น ปวดศีรษะไปจนถึงขั้นหัวใจวาย จึงควรทำจิตใจให้แจ่มใส ควบคุมอารมณ์ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเครียด โดยหากิจกรรมนันทนาการ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นกีฬา เพื่อให้ผ่อนคลาย
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เช่นงดขนมหวาน, ผลไม้รสหวานจัด เพราะหัวใจของคนอ้วนต้องทำงานมากกว่าปกติ
- ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นๆหายๆ ควรปรึกษาแพทย์
- หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป
การตรวจร่างกายประจำปี บอกได้ไหมว่าอาจเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
การตรวจร่างกายประจำปี อาจไม่สามารถบอกได้ทั้งหมด อย่างกรณีมีการตรวจเช็คเบาหวาน ไขมัน ความดัน ถ้ามีปัจจัยเหล่านี้เท่ากับเราเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้ หรืออาจจะมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย การเดินสายพาน ก็บอกได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเราตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะการตรวจสุขภาพหัวใจ ก็จะทำให้รู้ว่าตอนนี้เรามีรอยตีบอยู่หรือเปล่า หรือมีมากน้อยแค่ไหน แพทย์อาจจะให้ทานยาลดไขมัน หรือยาต้านเกร็ดเลือด ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงเวลาเกิดคราบไขมันหรือตะกรันแตก และช่วยป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดมาจับตัว
ผู้ป่วยกว่า 20% ที่เป็นโรคนี้มักเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล เพราะมาไม่ทัน เพราะฉะนั้นหากพบมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้เพียงเล็ก ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เมื่อถึงมือแพทย์ โอกาสรอดชีวิตก็จะมีมากกว่า
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา