หมอแนะนำ ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม ถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยได้ทำการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการสมานแผลและฟื้นฟู การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องใส่ใจ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า ขา เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำได้ได้โดยเร็วที่สุด

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะแบ่งออกเป็น  5 เรื่องหลัก ๆ

1. การดูแลแผลผ่าตัด

  • หลังเข้ารับการผ่าตัด ก่อนกลับบ้านพยาบาลจะทำความสะอาดแผลและทำแผลให้เรียบร้อยก่อนกลับบ้าน
  • เมื่อกลับบ้าน ผู้ป่วยไม่ต้องทำแผลเลยในระยะ 7 วันหลังการผ่าตัด จนถึงกำหนดวันที่แพทย์นัดเข้ามาติดตามการรักษา ยกเว้นแผลเกิดการเปียกน้ำสกปรก หรือแผลซึม แนะนำให้ไปทำแผลที่สถานพยาบาล คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ไม่แนะนำให้ทำแผลเอง
  • อย่าให้แผลเปียกน้ำ หรือถ้าติดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ สามารถโดนน้ำได้ แต่ต้องเช็ดให้แห้ง
  • อย่าให้แผลหลุดลอก
  • หากมีอาการชาบริเวณข้างหัวเข่า ถือเป็นอาการที่สามารถพบได้หลังการผ่าตัด ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
  • หลังกลับบ้าน แพทย์จะมีการสั่งยาเพื่อป้องกันอาการปวด หากมีอาการปวดแผล สามารถทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันอาการปวดได้
  • หากมีอาการปวดช่วงค่ำ ๆ หรือก่อนนอน อาจเกิดจากกิจวัตรระหว่างวันที่มากเกิดไป เพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดช่วงค่ำ หรือก่อนนอน ควรลดการเดิน หรือกิจกรรมที่ต้องใช้ขาหรือเข่าลงในวันถัดไป
  • แปะแผ่นประคบเย็น หรือ Cold Pack  เพื่อลดอาการปวดบวม

2. ระวังการหกล้ม ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ให้โล่ง สว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเดิน เพื่อกันการสะดุดล้มลง ถ้าจำเป็นต้องขึ้นลงบันได ควรมีราวจับทั้ง 2 ด้านของบันได ส้วมเป็นแบบชักโครก ภายในห้องน้ำควรใช้วัสดุกันลื่น มีราวจับ และจัดเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและสะดวกสบายขณะอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการลงไปอาบในอ่างอาบน้ำ เพราะอาจลื่นล้มได้ง่าย

3. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อ ได้แก่

  • นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งไขว่ห้าง ไขว้ขา การบิดหมุนเข่าไม่ว่ากรณีใดๆ
  • ขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น
  • การยกหรือแบกของหนักๆ
  • การใช้หมอนรองใต้เข่าเป็นเวลานานๆ ขณะนอน เพราะจะทำให้การไหลเวียนเลือดที่ใต้ข้อพับเข่าเป็นไปได้ไม่สะดวก และข้อเข่าอาจตึงยึด

4. การควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไปเพื่อข้อเข่าเทียมจะได้ไม่ต้องรองรับน้ำหนักมาก และยังเป็นการลดแรงกระแทกที่ข้อเทียมอีกด้วย

5. การบริหารกล้ามเนื้อหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ควรบริหารท่าละ 10-20 ครั้ง ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด หากมีอากการปวด บวม หลังออกกำลังกาย ให้หยุดและควรปรึกษาแพทย์ทันที

  • กระดกข้อเท้าขึ้นลง ทำช้า ๆ ข้างละ 50 ครั้งทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อขาได้ทำงาน ลดอาการขาบวมหลังผ่าตัด
  • ฝึกเหยียดเข่าให้สุด โดยค่อย ๆ เอามือกดต้นขาลงเบา ๆ ให้หัวเข่าชิดแนบกับเตียงให้ได้มากที่สุด กดจนรู้สึกว่าตึง ค้างไว้ 10 วินาที ทำข้างละ 5-10 ครั้ง สามารถทำได้ทุกชั่วโมง ทำจนขาสามารถแนบกับเตียงได้ การฝึกเหยียดเข่าให้สุด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้ดีขึ้น
  • ฝึกงอเข่า โดยการนอนหงายเหยียดเข่าตรง จากนั้นงอเข่า เลื่อนส้นเท้าไปบนเตียงเข้าใกล้สะโพกให้ได้มากที่สุด แล้วเหยียดเข้าออกให้ตรง
  • การฝึกเดิน หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรใช้ไม้เท้าช่วยผยุง ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากออกจากโรงพยาบาล ควรเดินเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าเดินมาก น้ำหนักตัวจะลงมาที่หัวเข่า ทำให้หัวเข่าอาจเกิดการอักเสบได้

คำแนะนำเพิ่มเติม ก่อนออกกำลังกาย 15-20 นาที ควรแปะแผ่นประคบเย็น หรือ Cold Pack หรือเมื่อออกกำลังกายแล้วมีอาการปวด บวม สามารถใช้แผ่นประคบเย็น หรือ Cold Pack ประคบเพื่อลดอาการได้เช่นเดียวกัน

โดยทั่วไปภายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้โดยไม่ใช้ไม้เท้าช่วยพยุง เหยียดหรืองอข้อเข่าได้สุดหรือเกือบสุด และในช่วงตั้งแต่ 2-6 เดือน ข้อเทียมจะมีความแข็งแรงเหมือนข้อเข่าจริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของแต่ละบุคคล หากดูแลตัวเอง ฝึกออกกำลังกาย หรือกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ การฟื้นตัวก็จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น

 

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line