สรุปแบบง่าย ๆ โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

จากกรณีที่ “ตูนบอดี้สแลม” หรือ “ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย”  นักร้องนำวง “บอดี้สแลม” มีอาการ “หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท” ส่งผลให้นิ้วมือข้างซ้ายมีอาการอ่อนแรงลงประมาณ 50% รวมถึงมีอาการชาบริเวณมือ ซึ่งอาการของพี่ตูนยังไม่เข้าขั้นวิกฤต แต่ก็ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด มีการให้ยา และทำกายภาพบำบัดร่วม และเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องขยับต้นคอ เพื่อทำให้การอักเสบของหมอนรองกระดูกนั้นลดลง

จนมีหลายคนสอบถามกันเข้ามาที่ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม เยอะมากนะครับว่า โรคนี้คืออะไร ทำไมถึงเป็น และใครบ้างที่จะเสี่ยงเป็นโรคนี้ นพ.ทินกร ปลิ้มวิทยาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประจำศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม สรุปข้อมูลของโรคนี้แบบเข้าใจง่าย ๆ กันครับ

หมอนรองกระดูก คืออะไร?

หมอนรองกระดูกต้นคอ คือส่วนที่คั่นอยู่ระหว่างปล้องกระดูกคอ จะอยู่ระหว่างกระดูกต้นคอ มีทั้งหมด 7 ชิ้น เรียกว่า cervical spine ซึ่งชิ้นที่ 1 จะอยู่ติดกับกะโหลก ไล่ลงมาจนถึงชิ้นที่ 7 ที่อยู่ติดกับกระดูกหน้าอก

หน้าที่ของหมอนรองกระดูกต้นคอ จะมีลักษณะช่วยแบ่งเบาภาระ รับแรงกด แรงกระแทก รับน้ำหนักและให้ความยืดหยุ่นของการใช้งานของกระดูกต้นคอ ทำให้เราสามารถก้มหรือเงยคอได้ เปรียบเสมือนเป็นช็คอัพหรือยางรถยนต์ แต่เมื่อเราใช้ไปนานๆ หรือใช้ไม่ถูกต้องก็จะทำให้หมอนรองกระดูกคอเสื่อมได้

โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร?

 โรคหมอนรองกระดูกต้นคอกดทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมของตัวหมอนรองกระดูก ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อคนเราอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป กลไลการเสื่อมจะเริ่มเกิดขึ้น ถ้าเกิดเรายังใช้งานในลักษณะเดิม ๆ หรือใช้งานผิดวิธี ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดกลไกการเสื่อมมากขึ้น สุดท้ายแล้วความเสื่อมก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทตามมาได้

ใครมีโอกาสเป็นโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

กลุ่มเสี่ยงก็จะเป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ที่มีการใช้งานต้นคอที่ผิดวิธี หรือใช้งานซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ เป็นเวลาเดิม ซึ่งในปัจจุบันพบโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น ในหนุ่มสาววัยทำงาน จากพฤติกรรมเสี่ยงการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น ใช่คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ  นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกลุ่มสังคมก้มหน้าที่วันหนึ่งๆ ใช้เวลาวันละหลายๆ ชั่วโมงหมดไปกับการก้มหน้าเล่นมือถือ  นอกจากนี้ยังเกิดภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ได้จากอุบัติเหตุบางอย่าง เช่น อุบัติเหตุจากรถชนทางด้านหลังอย่างแรง ทำให้กระดูกคอสะบัดไปข้างหลังและสะบัดกลับมาข้างหน้า ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและเนื้อเยื่อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม

อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท

เริ่มแรกผู้ป่วยมักมีอาการปวดต้นคอเป้นหลัก รวมไปถึงการปวดร้าวไปที่สะบัก ที่บ่า หรือลงแขน ในกรณีที่มีการกดทับอยู่เป็นเวลานาน มักจะมีอาการชา หรืออ่อนแรงของแขนข้างนั้นร่วมด้วย อาการหลัก ๆ ที่สังเกตได้คือ

  • คอแข็ง ทำให้ขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ
  • ปวดคอร้าวลงไปถึงไหล่หรือแขนได้
  • เป็นเหน็บชาที่แขน ขา มือ หรือเท้าบ่อยขึ้นจน รู้สึกอ่อนแรง
  • เดินลำบาก เนื่องจากการประสานงานของร่างกายผิดปกติ
  • ไม่สามารถ ติดกระดุมได้
  • ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายหรือระบบปัสสาวะได้

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กระดูกเสียหายอย่างถาวร

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

โดยมากโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทจะมีแค่ 10% เท่านั้นที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แปลว่ามีถึง 90% ที่สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด วิธีการรักษาก็จะเริ่มตั้งแต่

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน
  • การบริหารหล้ามเนื้อต้นคอ
  • การรับประทานยา
  • การทำกายภาพบำบัด ประคบด้วยร้อน ซึ่งช่วยทุเลาอาการปวดได้ชั่วคราว
  • นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยผ่านคลื่นความร้อน หรือการฉีดยาเข้าไปเหนือเส้นประสาทที่บริเวณคอ
  • การรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงไปที่หมอนรองกระดูก เพื่อลดแรงดันของหมอนรองกระดูกสันหลัง และสลาย ทำลายเส้นประสาทที่งอกเข้ามาในแกนกลางของหมอนรองกระดูกสันหลัง

แต่ในกรณีที่การรักาดังกล่าวไม่เป็นผล ก็อาจต้องมาพิจารณาเรื่องข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดกระดูกต้นคอ ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางการผ่าตัดผ่านกล้อง  เป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่มีความปลอดภัย ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านกล้องที่มีกำลังขยายสูง ทำให้เห็นเส้นประสาทบริเวณคอได้อย่างชัดเจน ลดความเสี่ยงพิการหลังการผ่าตัดหรือความเสียหายของเนื้อเยื้อที่ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้

ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท

สำหรับคำแนะนำในกรณีที่เราต้องการจะหลีกเลี่ยงโอกาสการเกิดโรคนี้ อาจจะต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกระดูกต้นคอ โดยเฉพาะกรณีที่เราต้องพิมพ์งานอยู่เป็นเวลานาน ไม่ควรจะพิมพ์ในท่าก้ม ควรจัดตัวมอนิเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อที่เวลาใช้งานจะได้อยู่ในท่าตรง ไม่มีแรงกดต่อหมอนรองกระดูก อาจจะต้องแบ่งเวลาในการนั่งอยู่ในท่าเดิม ๆ อย่างน้อย นั่ง 1 ชั่วโมง แล้วลุกยืน หรือยืดเส้นยืดสายสัก 1-2 นาที เก้าอี้ที่นั่งควรเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิง รวมไปถึงอาจจะต้องบริหารกล้ามเนื้อต้นคอให้กลับมาแข็งแรง เพื่อแบ่งเบาภาระของหมอนรองกระดูกต้นคอในอนาคต โดยต้องระมัดระวังในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ

 

 

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์ศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line