หลอดเลือดถือเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย หลอดเลือดจะไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดที่แขนขา หรือเส้นเลือดที่ไต ทุกส่วนคือหลอดเลือดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดโรคที่จุดใดจุดหนึ่ง หลอดเลือดจุดอื่นก็อาจจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าร่างกายของมนุษย์เปรียบเสมือนเมืองเมืองหนึ่ง เส้นเลือดของเราก็ไม่ต่างจากท่อประปา ที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบที่จะนำน้ำสะอาดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของเมือง ถ้าเมิ่อไหร่เกิดท่อน้ำอุดตันเกิดขึ้น เมือง ๆ นั้นก็จะขาดน้ำทันที เพราะฉะนั้นถ้าเส้นเลือดบริเวณใดเกิดอุดตัน ก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นได้ นานวันเข้าก็จะเกิดปัญหา และอาจมีความรุนแรงหากเกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ หรือ สมอง อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ สมองขาดเลือดได้ ดังนั้นการดูแลหลอดเลือดแดง ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ
วิธีการตรวจเช็คอย่างหนึ่ง ถ้าเราอยากจะทราบว่า หลอดเลือดที่หัวใจเกิดปัญหาหรือเปล่า ก็สามารถตรวจเช็คจากหลอดเลือดในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตรวจหลอดเลือดที่ขา ว่าหลอดเลือดที่ขาตีบไหม ซึ่งตรงนี้สามารถตรวจวัดง่าย โดยตรวจวัดความดันจากที่แขนที่ขาเทียบกัน แล้วคำนวณค่าออกมาว่าหลอดเลือดที่ขาตีบไหม เรียกว่า ABI หรือ Ankle Brachial Index
ABI หรือ Ankle Brachial Index คืออะไร
ABI หรือ Ankle Brachial Index คือ เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจหาภาวะโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ซึ่งเป็นอาการแสดงที่สำคัญของภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
ข้อดีของการตรวจ ABI หรือ Ankle Brachial Index
- ลักษณะการตรวจเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป
- ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว
- ใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที
- ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะตรวจ
- ให้ความแม่นยำสูงในการประเมินผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดอุดตันที่ขา ได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และมักพบร่วมกับการอุดตันในหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองด้วย
การตรวจ ABI หรือ Ankle Brachial Index มีประโยชน์อย่างไร
- สามารถเช็คการอุดตันและความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดง
- เมื่อตรวจพบค่า ABI ที่ผิดปกติ สามารถบ่งบอกโรคอื่น ๆ ที่สำคัญเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองตีบได้
- ใช้ประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด ตรวจเช็คพร้อมกันทุกจุดของร่างกาย เพื่อค้นหาโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีอาการปวดขา
- ตรวจเพื่อประเมินผลหลังการรักษา
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด ABI หรือ Ankle Brachial Index
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือสูบบุหรี่มานานกว่า 10 ปี
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบก่อนวัยอันควร
ขั้นตอนการตรวจ ABI หรือ Ankle Brachial Index
- ผู้ป่วยจะนอนในท่าที่สบาย ไม่เกร็ง หลีกเลี่ยงการใช้เสียงพูดหรือขยับขณะที่เครื่องทำการวัด เพราะอาจทำให้เกิดคลื่นรบกวนได้
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการใส่ถุงน่องซัพพอตแบบหนา ถุงเท้า หรือเสื้อแขนยาวแบบหนา ควรถอดออกทำการวัด
- เจ้าหน้าที่จะพันที่วัดความดัน ใน 4 จุด ได้แ ขาข้างซ้าย ขาข้างขวา แขนข้างซ้ายและแขนข้างขวา
- เจ้าหน้าที่จะวาง Phonocardiography Microphone หรือเครื่องวัดสัญญาณเสียง ไว้อยู่เหนือกระดูกหน้าอก
- เจ้าหน้าที่ทำการตรวจ ระหว่างการตรวจให้ผู้ตรวจนอนนิ่ง ๆ ไม่ต้องเกร็งจนกว่าการตรวจจะเสร็จสิ้น
- หลังจากตรวจเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะนำที่วัดความดันออกทีละข้าง
ภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง เพราะฉะนั้นหากตรวจพบตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการตรวจด้วยเทคโนโลยี ABI หรือ Ankle Brachial Index หากรู้เร็ว สามารถป้องกัน หรือหาแนวทางการรักษาได้
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา