17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขนานนาม โรคความดันโลหิตสูงเอาไว้ว่า คือ “ฆาตกรเงียบ” (Silience Killer) สาเหตุมาจากการที่โรคความดันโลหิตสูงสามารถทำลายสุขภาพร่างกายของมนุษย์ และคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เมื่อความดันเลือดในร่างกายสูบฉีดไปสู่หัวใจสูงกว่าปกติ ในเบื้องต้นจะไม่มีอาการของโรค กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว ระดับความดันในเลือดก็สูงจนเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
เดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2548 สมาพันธ์กรมความดันโลหิตสูงโลก (WHL) ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความอันตราย และเตรียมตัวป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต่อไป
ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั่วโลกพบเสียชีวิตมากกว่า 7 ล้านคน ในขณะที่ไทยในรอบ 5 ปี (พ.ศ. 2556-2560) ป่วยเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน เป็น 5.5 ล้านคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีจำนวนการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจากอายุที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจกับโรคความดันสูง เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ไม่มีอาการแสดง กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรหมั่นตรวจสุขภาพและวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ที่อาจอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในภาวะปกติ ถือเป็นเรื่องสำคัญ
จากรายงานพบว่า
- ผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 66-69 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 47 และ 50
- ผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายในช่วงอายุ 70-79 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 53 และ 60
- ผู้สูงอายุเพศหญิงและเพศชายอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 59 และ 69
จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เนื่องจากเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้นความเสื่อมถอยของหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น
ความดันโลหิตเท่าไหร่ถึงจะบอกว่า เราเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงคือภาวะที่เรามีความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท (ค่าความดันโลหิตตัวบน) และหรือความดันขณะหัวใจคลายตัว มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (ค่าความดันโลหิตตัวล่าง) ถ้าใครมีค่าใดค่าหนึ่งมากกว่า 140/90 ถือว่าเข้าข่ายความดันโลหิตสูง
แต่ก็อาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ความดันโลหิตสูงประกอบกันได้ เช่น เครียด นอนไม่หลับ มีอาการเหนื่อย ล้า เพราะฉะนั้นหากวัดความดันที่โรงพยาบาลและมีภาวะความดันโลหิตสูงอาจจะแนะนำให้นั่งพักสักพัก แล้ววัดยืนยันอีกครั้ง
ซึ่งค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ตัวบน(ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว) ไม่ควรเกิน 120 ค่าตัวล่าง (ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว) ไม่ควรเกิน 80 กล่าวคือในคนปกติจะมีระดับความดันโลหิต 120/80
สัญญาณเตือนความดันโลหิตสูง
- ปวดหัว ปวดตา ปวดต้นคอ
- มึนงง
- เหนื่อยง่าย
- ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมีอาการตาพร่ามัว คลื่นไส้
- หายใจหอบ
- เลือดกำเดาไหล
ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใด ๆ ทราบจากการวัดค่าความดันโลหิตเท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
- หัวใจทำงานหนักขึ้น
- หลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก
- เลือดอาจไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ
- หลอดเลือดแดงในตาเสื่อม
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
- ลดอาหารเค็ม/ มันเพิ่มผัก ผลไม้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดหรือลดการดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ
- งดหรือลดการสูบบุหรี่
- จัดการกับความเครียด
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำทุกปี
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา