เวลาที่ไปหาคุณหมอ คำถามที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ “แพ้ยาอะไรหรือเปล่า” บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าตัวเองแพ้ยาอะไรหรือเปล่า แต่ข้อมูลเรื่องการแพ้ยาถือเป็นข้อมูลที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะหากแพ้ยาตัวไหน หมอจะได้ไม่สั่งยาตัวนั้นให้
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราแพ้ยาอะไรหรือเปล่า หรือถ้าแพ้ยาแล้ว จะมีอาการอย่างไร หมอวิชัยรวมรวมรายละเอียดมาให้ครับ
ทำไมเราถึงแพ้ยา?
แพ้ยา คือปฎิกริยาตอบสนองที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการกิน ฉีด ทา และดม คล้ายการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม ซึ่งอาการแพ้ยาไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนนะครับ
อาการเมื่อเราแพ้ยา
การแพ้ยาจะมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่แสดงให้เห็นทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ตาบวม หน้าบวม ซึ่งจะมีทั้งแบบที่อาการรุนแรงและไม่รุนแรง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการใหญ่ ๆ
กลุ่มที่ 1 มีอาการแพ้ยาแต่ไม่รุนแรง : ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นผื่นแดง คล้ายลมพิษขึ้น หรือคันที่ผิวหนัง อาจจะเป็นที่ใบหน้า หรือมือ บางคนอาจจะตาบวม หน้าบวม
กลุ่มที่ 2 มีอาการแพ้ แบบไม่รุนแรง แต่ก็มากกว่ากลุ่มแรกมาอีกระดับหนึ่ง หรือให้เข้าใจง่าย ๆ คือกลุ่มที่มีอาการแพ้แบบปานกลาง จะเริ่มมีอาการหายใจติดขัด หรือมีอาการผื่นขึ้นทั้งตัว กลุ่มนี้ควรหยุดยาหรือหยุดสิ่งที่แพ้ทันที แล้วดื่มน้ำเยอะ ๆ แล้วรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้แบบรุนแรง
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีอาการแพ้ยาแบบรุนแรง : อาการที่พบ
- จะมีไข้สูง , ปวดศีรษะ ,น้ำมูกไหล, ปวดข้อ หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด
- มีผื่นแดง หรือผื่นสีเข้ม ขึ้นตามตัว แขน ขา รอบ ๆ ปาก หรือบริเวณลำตัว รูปแบบผื่นอาจจะมีตั้งแต่ ผื่นแดงเป็นปื้น ๆ คัน มีตุ่มเล็ก ๆ เป็นตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำพองใส ๆ
- เจ็บแสบที่ผิวหนัง หรือผิวหนังเริ่มบวม อาจมีอาการหน้าบวม แขนขาบวม ปากบวม ลิ้นบวม หรือมีอาการผิวหนังหลุดลอก
- เจ็บบริเวณเยื่อบุอ่อน หรือแผลบริเวณเยื่อเมือก เช่น ตา ช่องปาก อวัยวะเพศ
- บางคนอาจมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหายใจติดขัด
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- มีอาการอักเสบของอวัยวะภายใน เช่น ตับอักเสบ ไตอักเสบ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นไตวาย
- หากมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเป็นลม ชีพจรเต็นเร็วและเบา ความดันโลหิตต่ำ มีอาการชัก หรือสูญเสียการรับรู้ อาจถึงขั้นหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้
ซึ่งผู้ที่มีอาการแพ้ยารุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน คนที่แพ้ยาในกลุ่มนี้ มักจะเป็นการแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อต้านการอักเสบ หรือยาปฎิชีวนะ
จะต้องทำอย่างไร เมื่อมีอาการแพ้ยา?
หากเริ่มมีอาการ สิ่งที่ควรต้องทำ คือ
- หยุดยา หรือสิ่งที่แพ้ทันที และจดจำอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น
- ถ่ายรูปผื่นขณะที่มีอาการด้วยกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือ โดยเน้นให้เห็นผื่นชัดเจน เพื่อนำไปให้คุณหมอวินิจฉัย
- หากผื่นมีการเปลี่ยนแปลง ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทุกครั้ง
- นำยาทั้งหมด พร้อมสลากยามาพบแพทย์ โดยเร็วที่สุด
สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้
- ต้องจดจำชื่อยาที่แพ้ให้แม่นยำ และพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา หรือกลุ่มของยาที่แพ้ซ้ำ เพราะยาในกลุ่มเดียวกัน มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการแพ้เหมือนกัน ซึ่งข้อมูลนี้แพทย์ หรือเภสัชกรควรต้องได้รับข้อมูลอย่างละเอียด
- แสดงบัตรแพ้ยา หรือชื่อยาที่แพ้ ให้กับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งที่มาใช้บริการ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการแพ้ และประวัติการรักษา
- หรือถ้าเกิดคุณหมอถามว่า เราแพ้ยาอะไรหรือเปล่า แล้วเราไม่เคยแพ้ยามาก่อน สิ่งที่ควรตอบคุณหมอ คือ “ไม่ทราบว่าแพ้ยาอะไร” เพราะเนื่องจากปัจจุบันเราไม่แพ้ยา แต่เราไม่รู้ว่าตอนเด็กๆ เรามีอาการแพ้ยาอะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เคยแพ้ยา ให้ตอบว่า “ไม่ทราบ” หรือ “ไม่รู้” เพื่อคุณหมอจะได้ให้ความระวังในการให้ยา หากเราตอบว่าไม่แพ้ คุณหมอก็จะสรุปว่าเราไม่ได้แพ้ยา สามารถให้ยาอะไรก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะเกิดอาการแพ้เกิดขึ้นได้
อาการแพ้ยาไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราทุกคนจะระวังตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นนอกจากคอยสังเกตุตัวเอง รีบพบแพทย์เมื่อมีอาการ จดจำชื่อยาที่ตัวเองแพ้ให้แม่นยำ บอกคนใกล้ชิดหรือคนรอบตัวเรื่องการแพ้ยา หากเกิดภาวะฉุกเฉินจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันครับ
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา