มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในโลก มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ซึ่งมีอัตราผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มต้นจากติ่งเนื้อ (Polyp) เล็ก ๆ ที่งอกขึ้นบริเวณผนังลำไส้ ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่หากปล่อยไว้นาน ติ่งเนื้อบางอัน อาจเกิดการกลายตัวของเซลล์เยื่อบุผิว และกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือ Colonoscopy เป็นวิธีที่จะช่วยตรวจคัดกรองความผิดปกติของผนังลำไส้ ซึ่งเป็นการใช้กล้องชนิดพิเศษ หรือที่เรียกว่า กล้องไฟเบอร์ออฟติก ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็ก ปรับโค้งงอได้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3 เซนติเมตร ที่ปลายกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ โดยสอดเข้าไปทางทวารหนัก เข้าไปจนสุดลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ที่ต่อกับลำไส้เล็ก เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ ของผนังลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยแพทย์จะมองเห็นภาพขยายของผนังลำไส้ทั้งหมด ผ่านทางจอขนาดใหญ่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ถือเป็นเทคโนโลยีการตรวจลำไส้ใหญ่ที่ชัดเจน และแม่นยำมาก
- สามารถตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่เริ่มต้น แม้ติ่งเนื้อจะมีขนาดเล็กมาก และเมื่อพบติ่งเนื้อต้องสงสัยก็สามาถตัดออกได้ทันที
- สามารถบอกภาวการณ์อักเสบ ติดเชื้อ แผลที่ลำไส้ใหญ่
- สามารถตรวจวินิจฉัยว่าติ่งเนื้อที่พบเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งหรือไม่
- นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการประเมินความผิดปกติอื่น ๆ ของลำไส้ใหญ่ที่เกิดขึ้น เช่น ลำไส้แปรปรวน ท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง อุจจาระผิดปกติ ภาวะซีด อาการน้ำหนักลดที่ไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้อง มีก้อนในช่องท้อง
อาการแบบไหนที่ควรเข้ามาส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- ขับถ่ายผิดปกติ ถ่ายเป็นมูกเลือด
- ท้องผูกสลับท้องเสีย
- ท้องอืดเรื้อรัง
- ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ
- อุจจาระลีบเล็กกว่าปกติ
- น้ำหนักตัวลดลง
- ซีดไม่ทราบสาเหตุ
ใครบ้างที่ควรมาส่องกล้องลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุ 45-50 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แม้จะไม่มีอาการใด ๆ โดยควรเข้ารับการตรวจทุก 5-10 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งชนิดอื่น หรือเป็นติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ ชนิดที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ควรเข้ารับการส่องกล้องสำไส้ใหญ่เร็วขึ้น โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30- 40 ปี โดยแพทย์จะพิจารณาให้คำแนะนำเป้นราย ๆ ไป
- ตรวจติดตามสำหรับผู้ที่เคยตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ว่ามีติ่งเนื้องอกขึ้นใหม่หรือไม่
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่น่ากลัวไหม
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาในการทำไม่นาน โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ซึ่งตลอดระยะเวลาการส่องกล้อง คนไข้จะได้รับการดมยาให้หลับโดยวิสัญญีแพทย์ ดังนั้นในขณะที่ส่องกล้องคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ปลอดภัยไหม มีความเสี่ยงอะไรหรือเปล่า
การส่องกล้องมีความปลอดภัยสูงมาก และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ อาจจะมีอาการข้างเคียงหลังส่องกล้องเพียงเล็กน้อย เช่น
- อาจมีอาการท้องอืดแน่นท้องเพียงเล็กน้อย แต่ก็จะหายเองได้ ภายใน 4-6 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง
- อาจมีแผลที่ผนังลำไส้ หรือมีภาวะเลือดออกจากการตัดติ่งเนื้อ ซึ่งพบได้น้อยมาก มักเกิดจากการที่ต้องตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ตลอด
นพ.สุธี. โรจนวิไวกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ศัลยกรรมผ่านกล้อง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา