การตรวจสายตาอาชีวอนามัย

การตรวจสายตาอาชีวอนามัย ใช้ตรวจเพื่อเฝ้าระวังปัญหาทางสายตา และยืนยันความพร้อมสำหรับการปฎิบัติงานในบริษัท โดยผู้ที่จะเข้าทำงานในบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีสุขภาพตาที่ดี ตามที่บริษัทหรือหน่วยงานกำหนด ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาที่อาจส่งผลกระทบต่องาน หรือความปลอดภัยในการทำงานในอนาคต โดยจะเป็นการตรวจสายตาด้วยเครื่อง Vision Screener   เพื่อคัดกรองสมรรถภาพในการมองเห็น และเฝ้าระวังปัญหาทางสายตา

เครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย คืออะไร
เครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย หรือ vision screener เป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองสุขภาพพนักงานอย่างหนึ่ง มีข้อดีดังนี้

  • เป็นเครื่องตรวจที่มีขนาดเล็ก
  • พกพาง่าย
  • สามารถตรวจความผิดปกติของสายตาได้หลากหลาย เช่น  ตรวจการมองเห็นภาพชัดเจน (visual acuity) ทั้งระยะไกล (far vision) และระยะใกล้ (near vision) การมองภาพสี (color vision) การมองภาพ 3 มิติ (stereopsis) การตรวจภาวะตาเขซ่อนเร้น (phoria) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน การตรวจลานสายตา (visual field)

แต่การตรวจด้วยเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย หรือ vision screener ถือเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ดังนั้นหากตรวจแล้วผลการตรวจพบความผิดปกติอย่างมาก แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะพิจารณาส่งพนักงานท่านนั้นไปตรวจยืนยันกับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง

การแปลผลจากการตรวจด้วยเครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย หรือ vision screener สามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. การมองภาพระยะไกลผิดปกติ หรือไม่ชัดเจน (far vision)

สาเหตุที่พบได้บ่อย เกิดจากภาวะสายตาสั้น (myopia) หรือจากภาวะสายตาเอียง (astigmatism) หรืออาจเกิดจากภาวะสายตาสั้นร่วมกับสายตาเอียง

ผลการตรวจจะแยกการตรวจออกเป็น ตาซ้าย ตาขวา และสองตารวมกัน ทำให้แปลผลแยกแต่ละข้างได้ชัดเจน หากพบปัญหา

  • การมองภาพระยะไกลไม่ชัด แก้ไขได้ด้วยการตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม
  • การมองภาพระยะไกลไม่ชัดเจน ที่เกิดโรคทางดวงตา โดยสามารถเกิดขึ้นได้จาก
    *ปัญหากระจกตา (cornea) เช่น แผลที่กระจกตา (corneal scar) กระจกตาโค้งผิดรูป (keratoconus) ต้อเนื้อมาบดบังดวงตา (pterygium)
    *ปัญหาที่ช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) เช่น ภาวะเลือดออกในช่องหน้าม่านตา (hyphema) ตาอักเสบจนเกิดหนองในช่องหน้าม่านตา (hypopyon)
    *ปัญหาที่เลนส์ตา (lens) เช่น โรคต้อกระจก (cataract)
    *ปัญหาที่จอประสาทตา (retina) เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) จอประสาทตาอักเสบ (retinitis) จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age related macular degeneration) มะเร็งที่จอประสาทตา (retinoblastoma)
    *รวมถึงโรคอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา
    เมื่อพบผลตรวจการมองภาพระยะไกลผิดปกติ หรือสงสัยว่าจะมีภาวะผิดปกติ หรืออันตรายในดวงตา แนะนำให้ส่งตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์ต่อไป
  1. การมองภาพระยะใกล้ผิดปกติ (near vision) คือเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนั้น มีลักษณะการแปลผลทำนองเดียวกับการมองภาพในระยะไกลผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจาก
  • ภาวะสายตายาว (hyperopia)
  • ภาวะสายตาเอียง (astigmatism)
    *ภาวะสายตาสูงอายุ (presbyopia)
    *หรืออาจเกิดจากโรคอันตรายอื่น ๆ ในดวงตา
    การแก้ไขปัญหาการมองภาพระยะใกล้ผิดปกติ สามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม หากพบผลการตรวจที่มีความผิดปกติ ควรให้แพทย์ที่มาตรวจสุขภาพ ทำการตรวจร่างกายโดยดูที่ดวงตารวมถึงซักประวัติเพื่อค้นหาโรค เมื่อแพทย์พบรายใดที่สงสัยจะมีภาวะผิดปกติอันตรายในดวงตา แนะนำให้ไปตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์ต่อไป
  1. การมองภาพ 3 มิติผิดปกติ (stereopsis) เป็นการตรวจเพื่อดูความสามารถในการมองความลึกของภาพ (depth perception) ซึ่งในคนปกติจะมองภาพเห็นความลึกได้ ต่อเมื่อมีสายตาสองข้างที่เห็นชัดเจน และมีระบบการประมวลผลภาพจากสองตามารวมกันเป็นภาพ 3 มิติขึ้นในสมอง ปัญหาการมองภาพ 3 มิติผิดปกติ อาจเกิดจาก
  • มีการมองเห็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่ชัดเจน เช่น มีภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง เป็นต้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นเพื่อแก้ไขภาวะสายตาสั้นหรือสายตาเอียง ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาความผิดปกติในการมองเห็นความลึกผิดปกติได้
  • นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุโรคทางตาอื่น ๆ  เช่น เป็นโรคตาขี้เกียจมาตั้งแต่เด็ก (amblyopia) ซึ่งจะทำให้การประมวลผลภาพในสมองใช้ภาพจากตาเพียงข้างเดียว ก็จะทำให้การมองเห็นความลึกผิดปกติไปเช่นกัน  ซึ่งโรคตาขี้เกียจนี้หากพบตอนโตเป็นผู้ใหญ่ จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
  1. การมองภาพสีผิดปกติ (color vision) การมองภาพสีที่ผิดปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะตาบอดสี (color blindness) สาเหตุเกิดจาก ภาวะพันธุกรรม หรือตรวจพบอาการตั้งแต่กำเนิด หากตรวจพบความผิดปกติ แนะนำให้ทำการตรวจยืนยันกับแผ่นตรวจตาบอดสีมาตรฐาน เช่น แผ่นตรวจอิชิฮาร่า (Ishihara test) เพื่อยืนยันอีกครั้ง
  2. ความสมดุลกล้ามเนื้อตาผิดปกติ (phoria) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะตาเขหรือตาเหล่ (strabismus) โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
  • ภาวะตาเขที่เห็นได้ชัดเจน (tropia) สามารถมองเห็นความผิดปกติได้โดยไม่ต้องทำการตรวจพิเศษใด ๆ
  • ภาวะตาเขแบบซ่อนเร้น (phoria) คือ ภาวะตาเขแต่กล้ามเนื้อตายังสามารถปรับสมดุล ดึงตามาให้เท่ากันได้ในสภาวะการมองปกติ แต่การมองในบางมุมอาจพบว่าตาเขออกไป ภาวะนี้ต้องใช้การตรวจพิเศษจึงจะพบความผิดปกติ

โดยสามารถตรวจแยกได้ทั้งอาการเขในแนวระนาบ (lateral phoria) และตาเขในแนวตั้ง (vertical phoria) หากพบผลการตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อตาผิดปกติ ให้สงสัยว่าอาจมีอาการตาเขแบบซ่อนเร้น และหากมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะเมื่อต้องเพ่งอะไรนานๆ ร่วมด้วย ควรส่งพนักงานรายนั้นไปตรวจยืนยันและทำการรักษากับจักษุแพทย์

  1. ลานสายตาผิดปกติ (visual field) การตรวจลานสายตา โดยใช้เครื่องตรวจสายตาอาชีวอนามัย เป็นการตรวจเบื้องต้น เพื่อประเมินดูว่าพนักงานมีลานสายตาที่กว้างเพียงพอต่อการทำงานบางอย่าง เช่น งานขับรถ ได้หรือไม่ การตรวจทำโดยให้ดูจุดไฟกระพริบที่ตำแหน่งริมด้านนอก (temporal side) ตรง 55, 70 และ 85 องศา กับด้านใน (nasal side) ตรงตำแหน่ง 45 องศา

โดยจะทำการตรวจแยกตาซ้ายกับตาขวาทีละตา ผลการตรวจภาวะลานสายตาที่ผิดปกตินี้ อาจบ่งบอกถึงภาวะอันตรายบางอย่างในดวงตาได้ เช่น โรคต้อหิน (glaucoma) หากตรวจพบความผิดปกติควรส่งตัวพนักงานไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการวัดความดันลูกตา ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป

การเตรียมตัวในการตรวจสายตาอาชีวอนามัย

  • ผู้รับการตรวจควรพักสายตาให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการใช้สายตาเพ่งมองวัตถุนาน ๆ ก่อนการตรวจ
  • ผู้เข้ารับการตรวจที่มีแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ ให้สวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ในการตรวจ

พญ.สุวดี ขาวไพศาล

พญ สุวดี ขาวไพศาล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตา

พบปัญหาทางสายตา
ติดต่อคลินิกจักษุ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line