ข้อเข่าเสื่อม ไม่แก่ ก็เป็นได้

โรคข้อเข่าเสื่อม ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่เริ่มมีอาการรุนแรง ก็จะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ ใช้ชีวิตประจำวันไม่สะดวก นอกจากนี้หลายคนที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ ซึ่งโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

ข้อเข่าเสื่อมเกิดจากอะไร?

ปกติกระดูกในร่างกายของคนเราจะมีกระดูกต้นขาและท่อนขา และมีช่องว่างตรงกลาง คือช่องว่างของกระดูกอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการรองรับและกระจายน้ำหนักของเรา เวลาเราเดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ หรือบางลง ก็จะทำให้เกิดการกระจายแรงที่ผิดปกติ

ดังนั้น โรคช้อเข่าเสื่อม เกิดจากผิวข้อของกระดูกอ่อนมีการสึกหรอ หรือเสื่อมสภาพ ค่อย ๆ บางลง จากผิวข้อเดิมที่มีความเรียบลื่นและรองรับน้ำหนักของร่างกายได้ดี ก็จะกลายเป็นไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี สูญเสียความเรียบลื่น ทำให้เกิดความขรุขระของผิวข้อ เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่าจึงทำให้เกิดเสียงดังในข้อ เกิดอาการข้อติด ประสิทธิภาพในการขยับข้อลดน้อยลง เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการเจ็บ ปวดในข้อเข่า เนื่องจากเส้นประสาทอยู่ใต้กระดูกอ่อน เมื่อกระดูดอ่อนมีการสึกหรอ หรือบางลงมาก ๆ จนระยะสุดท้ายของข้อเข่าเสื่อม คือ กระดูกเสียดสีกันโดยมีเส้นประสาทคั่นอยู่ จึงทำให้รู้สึกเจ็บมาก บางรายอาจมีอาการเข่าผิดรูป หรือขาโก่งได้

สาเหตุที่ทำให้กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า เกิดการสึกหรอ

เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ

1. เกิดขึ้นเอง หรือเรียกว่า ปฐมภูมิ คือไม่มีสาเหตุแน่ชัด จะเป็นรูปแบบของกระดูกอ่อนเสื่อมไปตามวัย  ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • ผู้ที่มีการใช้งานข้อเข่าเยอะ ๆ
  • เพศหญิง จะพบเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย
  • กรรมพันธุ์ จากงานวิจัยพบว่าหากคนในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เราก็อาจจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมประมาณ 20%

2. ความเสื่อมของของที่มาเร็วกว่ากำหนด หรือทราบสาเหตุ

เรียกว่า ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พบเจอผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่อายุยังน้อย ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บที่ข้อ เข่า หรือเส้นเอ็น กระดูกแตก กระดูกหัก เส้นเอ็นในข้อเข่าเกิดการฉีกขาด หมอนรองเข่าฉีดขาด หรือ  การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรือการเล่นกีฬา หรืออาชีพที่ต้องยกของหนัก ๆ
  • ผู้ที่เคยมีการติดเชื้อในข้อเข่า ซึ่งการติดเชื้อต่าง ๆ อาจทำให้เกิดการทำลายกระดูกอ่อนในข้อเข่าได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น คนไข้รูมาตอยด์ คนไข้โรคพุ่มพวง หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคเก๊าต์ โรคของต่อมไร้ท่อ

อาการเบื้องต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม ที่สามารถสังเกตได้

  • รู้สึกเจ็บเข่าเวลาขยับ โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงบันได
  • มีอาการเจ็บ เมื่อกดลงที่ข้อเข่า
  • เจ็บเวลางอเข่า
  • ปวดเข่าเรื้อรัง
  • เข่าอ่อนแรง
  • ข้อเข่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่
  • ข้อติดหรือขยับข้อเข่าได้ยาก
  • เมื่อเคลื่อนไหว อาจมีเสียงดังลั่นอยู่ในข้อ
  • รู้สึกว่าขอเริ่มมีการผิดรูป หรือรู้สึกว่าขาโก่งมากขึ้น

การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า

  • แพทย์จะทำการซักประวัติ ว่าอาการปวดเข่าเป็นมานานแค่ไหน มีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า หรือเคยเกิดอุบัติเหตุอะไรบ้าง
  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ว่าเข่ายังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า มีตำแหน่งที่เจ็บบริเวณผิวข้อตรงไหนบ้าง เช่น บางคนเจ็บที่ลูกสะบ้า บางคนเจ็บที่ผิวข้อด้านใน บางคนขาผิดรูป ฯลฯ
  • แพทย์จะทำการส่งเอ็กซ์เรย์ เพื่อประเมินระยะของโรค

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม จะอยู่ที่ระดับอาการปวด ความรุนแรง หรือระยะของโรค สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีหลักๆ

  1. ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นการรักษาแบบไม่ใช้ยา คือการทำความเข้าใจกับโรค แพทย์จะให้ความรู้ว่าโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่าทางที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ปวดเข่า เช่น การนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ ยอง ๆ คุกเข่า หรือขัดสมาธิ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ข้อเข่างอเยอะ ซึ่งจะทำให้กระดูกอ่อนสึกเร็ว และให้บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้แข็งแรง
  2. การรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อลดอาการปวดและอักเสบภายในข้อเข่า เช่น ยาลดอาการปวด ยาที่ช่วยฟื้นฟูผิวข้อบางส่วน หรือหากใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ฉีดยา เช่น ยาลดการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า เพื่อให้ข้อเข่ามีความหล่อลื่นมากขึ้น
  3. การผ่าตัด เช่น การส่องกล้องภายในเข่า การผ่าตัดปรับแนวข้อ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นวิธีหลังจากทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น ยังปวดมาก หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

วิธีการดูแลตัวเองเพื่อชะลออาการข้อเข่าเสื่อม

  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ปรับอิริยาบถการใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ใช้งานข้อเข่ามากจนเกินไป เช่น การนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ ยอง ๆ คุกเข่า หรือขัดสมาธิ
  • สร้างกล้ามเนื้อต้นขาหรือเส้นเอ็นรอบเข่าให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย
  • หากเริ่มมีอาการปวดเข่าผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

 

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line