การใส่สายสวนหัวใจ ข้อแนะนำ และการเตรียมตัว

การตรวจสวนหัวใจ หรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ คือการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ  เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้อีกด้วย

เมื่อไหร่ที่เราต้องสวนหัวใจ

  • เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง
  • มีลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
  • เมื่อต้องการตรวจหารอยโรค หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • เมื่อต้องเตรียมผ่าตัดหัวใจ

ขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนทำการสวนหัวใจ

  • งดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • รับประทานยาได้ตามปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • รับประทานยาต้านเกร็ดเลือด ตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เช่น ยา Aspirin Clopidogrel (ยกเว้นยาละลายลิ่มเลือด Warfarin อย่างน้อย 3-5 วัน)
  • ผู้ป่วยจะต้องเข้าพักที่โรงพยาบาลก่อนทำการสวนหัวใจ เพื่อทำการเจาะเลือด เอ็กซ์เรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ
  • ไม่ควรนำของมีค่า ฟันปลอม หรือโลหะต่าง ๆ เข้าห้องตรวจสวนหัวใจ
  • ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลประจำแผนก หากแพ้ยา แพ้อาหารทะเล หรือมีโรคประจำตัว

ขั้นตอนการสวนหัวใจ

  • พยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณที่จะใส่สายสวน บริเวณที่ข้อมือหรือขาหนีบแล้วแต่แพทย์จะพิจารณา
  • จะมีจะมีสายน้ำเกลือเส้นเล็กที่แขนและต้องติดขั้วสื่อไฟฟ้าอิเล็กโทรด (electrode) ไว้ที่หน้าอกและขา
  • แพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ที่ข้อมือหรือขาหนีบ แล้วจึงใส่สายสวนขนาดเล็กบริเวณนั้น โดยจะใส่เข้าไปทางหลอดเลือด สายสวนเป็นท่ออ่อนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ประมาณไส้ปากกาลูกลื่นและมีหัวเป็นเข็ม สายสวนจะเข้าไปในหลอดเลือดจนถึงหัวใจ
  • จากนั้นแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปตามหลอดเลือดหัวใจ แล้วใช้เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพหลอดเลือดเป็นชุดอย่างรวดเร็ว ภาพที่ได้แสดงเห็นช่องทางไหลเลือดเลี้ยงหัวใจอย่างละเอียด
  • ขั้นตอนการสวนหัวใจและฉีดสีใช้เวลาประมาณ 30–60 นาที เมื่อเรียบร้อยแล้ว สายสวนจะถูกดึงออกแล้วต้องใช้พลาสเตอร์ปิดแผลห้ามเลือดจุดที่ใส่สายสวนสักระยะหนึ่ง

การดูแลหลังการสวนหัวใจ

  • ให้ผู้รับบริการนอนหงายราบ ห้ามยกศีรษะสูง ห้ามงอขาด้านที่ทำการใส่สายสวน เป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง (โดยที่ขาจะมีหมอนทรายวางทับอีกชั้นหนึ่ง)
  • ผู้รับบริการสามารถลุกนั่งที่เตียงได้ หลังจากเอาหมอนทรายออกประมาณ 2-3 ชั่วโมง และสามารถเดินได้เมื่อครบ 24 ชั่วโมง หรือวันรุ่นขึ้น
  • เมื่อกลับถึงหอผู้ป่วย ถ้าผู้รับบริการไม่มีอาการคลื่นไว้หรืออาเจียน สามารถรับประทานน้ำหรืออาหารได้
  • ห้ามไอ จามแรง ๆ หรือเบ่งถ่าย เพราะอาจทำให้เลือดออกจากแผลได้
  • ให้ผู้รับบริการ สังเกตบริเวณแผล ถ้ามีอาการปวดหรือบวม หรือมีการชาที่ปลายเท้าที่ใส่สายสวน ควรรีบแจ้งพยาบาลที่หอผู้ป่วยทันที
  • ตรวจสัญญาณชีพและตรวจคลื่นหัวใจ
  • ระวังอย่าให้แผลโดนน้ำเป็นเวลา 1 วัน
  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกเจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ใจสั่น หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่หอทันที

โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังการสวนหัวใจ

  • อาจมีการติดเชื้อ มีเลือดออกจากแผล หรือปวดบริเวณที่ใส่สายสวน
  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  • หลอดเลือดหัวใจตีบขึ้นมาใหม่
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไต มีปัญหาจากการขับสารทึบรังสี ออกจากร่างกาย เกิดภาวะไตเสื่อม
  • แพ้สารทึบรังสี อาจทำให้เกิดอาการช็อค
  • เส้นเลือดอุดตันที่สมอง (อุบัติการณ์​ <0.2%)
  • เสียชีวิต (อุบัติการณ์​ <0.5%)

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยสวนหัวใจ เมื่อกลับบ้าน

  • สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรเริ่มต้นการทำอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้รับบริการสามารถทำกิจวัตรที่เคยทำหลังจากออกจากโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 1 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่เครียดต่อหัวใจ เช่น การยกน้ำหนัก โดยควรเริ่มจากการเดินอย่างช้า ๆ เมื่อรู้สึกเหนื่อยควรหยุด
  • ไม่ควรทำกิจกรรมที่ใช้แรงในการดึง การผลัก ดัน หรือยกน้ำหนัก หรือนั่งคุกเข่า ซึ่งจะมีผลทำให้เลือดออกบริเวณที่ใส่สายสวน ในช่วง 1 สัปดาห์หลังใส่สายสวน
  • ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง หรือซื้อยามารับประทานเอง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม
  • หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก พักแล้วไม่หาย หรือทานยาแล้วไม่หาย ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line