จะรู้ได้อย่างไรว่า กระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่มีการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง และสามารถเกิดภาวะกระดูกหักตามมาได้ การตรวจพบภาวะกระดูกพรุนก่อนกระดูกหักจึงมีความสำคัญ​ นพ.ชาคร ริมชลา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประจำศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวัดมวลกระดูก เพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน

การตรวจมวลกระดูก คืออะไร

การตรวจมวลกระดูก คือ การวัดความหนาแน่นของกระดูกเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยวัดเป็นมวล ต่อตารางพื้นที่ของกระดูก การตรวจชนิดนี้จะใช้เครื่องมือทางรังสีชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า DEXA ย่อมาจาก Dual-Energy X-ray Absorptiometry เพื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density, BMD) รวมถึงโครงสร้างหรือคุณภาพภายในกระดูก ประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกหักอันเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุนในระยะเวลา 10 ปี

โดยวิธีตรวจ  จะเลือกตำแหน่งของกระดูกที่เป็นตัวแทนของการทำงานของกระดูกทั้งตัว โดยจะตรวจเป็น Central Device คือ การตรวจในแกนกลาง คือกระดูกสันหลังส่วนเอว กระดูกสะโพก ข้างที่ไม่เคยมีการบาดเจ็บ หรือมีการหัก หรือผ่าตัดมาก่อน และกระดูกข้อมือ

โดยจะแปรผลออกมาเป็น มวลกระดูกปกติ กระดูกบาง และกระดูกพรุน ซึ่งจะรายงานออกมาเป็นลักษณะของกราฟ โดยแบ่งออกเป็นโซนสี ได้แก่ โซนสีเขียว สีเหลือง สีแดง

  • โซนสีเขียว จะบ่งบอกว่า ภาวะกระดูกของเราอยู่ใกล้เคียงกับคนอายุเท่า ๆ กัน ที่ไม่มีภาวะกระดูกบาง
  • โซนสีเหลือง เริ่มมีภาวะกระดูกบาง ต้องระวังมากขึ้น หรือต้องมีมาตรการป้องกันว่าทำอย่างไร ที่ต้องไม่ไปถึงภาวะกระดูกพรุน
  • โซนสีแดง แสดงว่ามีปัญหาเรื่องโรคกระดูกพรุนเราก็จะเริ่มการรักษา

ประโยชน์ของการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก
เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน ตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ เพื่อป้องกันอาการกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน

ข้อดีของการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก

  • ใช้ปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำ ถ้าเทียบกับการเอ็กซ์เรย์ปอด ทำให้ผู้ตรวจโดนรังสีน้อยมาก
  • มีความถูกต้อง แม่นยำสูง ตามหลัก WHO ในการตรวจวินิจฉัยมาตรฐานของโรคกระดูกพรุน
  • ไม่มี่ความเจ็บปวด
  • ใช้เวลาในการตรวจรวดเร็ว ประมาณ 10-15 นาที
  • สามารถเข้ามารับการตรวจได้เลย
  • ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร
  • หลังตรวจเสร็จสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจากจะไม่มีรังสีตกค้างอยู่ภายในร่างกาย

ผู้ที่ควรได้รับการตรวจมวลกระดูก

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีมวลกระดูกน้อย ได้แก่

  • ผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน
  • ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • หรือผู้หญิงที่มีภาวะบางอย่างที่ต้องผ่าตัด และมีการตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 65 ปี
  • ผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะมวลกระดูกน้อย
  • หรือคนไข้มีอุบัติเหตุหรือมีภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวลง หรือกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ เราก็จะตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุนไปด้วย เพื่อร่วมรักษาไปด้วย

การเตรียมตัวในการตรวจมวลกระดูก

  • ผู้เข้ารับการตรวจสามารถดื่มน้ำและทานอาหารได้ตามปกติ
  • สำหรับผู้เคยเคยตรวจด้วยการใช้สารทึบรังสี หรือสารเภสัชรังสี ควรเว้นระยะห่างในการตรวจมวลกระดูกอย่างน้อย 3 วัน
  • ในวันที่มาตรวจผู้ป่วยจะได้รับการเปลี่ยนเป็นชุดโรงพยาบาลที่ใส่สบาย
  • ไม่ควรมีเครื่องประดับหรือโลหะในร่างกาย

ตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก ควรตรวจบ่อยแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคกระดูกพรุนในแต่ละราย บางคนอาจจะอาจจะตรวจทุก 3 ปี หรือบางคนอาจจะตรวจปีละครั้ง สำหรับผู้ที่กำลังติดตามผลการรักษา ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ข้อควรระวัง ในการตรวจวัดมวลกระดูก

ไม่นิยมตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากรังสีจะส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีการตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากแพทย์จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการตรวจอีกครั้ง

การตรวจมวลกระดูก เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดภาวะกระดูกหักแล้ว เพื่อป้องกันภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัว ควรเข้ารับการตรวจมวลกระดูกกันนะครับ

 

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line