ไม่อยากให้ลูกติดมือถือ พ่อแม่ต้องรู้!

ลูกติดมือถือ อันตรายแค่ไหน? แล้วจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกมากน้อยแค่ไหน? แล้วจะใช้ให้ลูกใช้มือถือหรือแท็บเล็ตให้ได้ประโยชน์

เรื่องลูกติดมือถือ คิดว่าคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวอาจจะเริ่มกังวล และมีคำถามในหัวมากมาย เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่หันมาอาศัยมือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการเลี้ยงลูก

สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอาจทำหน้าที่ในการดูแลเด็กๆได้ดีในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเนื้อหาและเรื่องราวที่น่าสนใจได้อย่างหลากหลายและสะดวกรวดเร็ว ด้วยรูปแบบ แสงสี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งช่วยให้เด็กๆสามารถอยู่นิ่งๆ เพื่อค้นหาและติดตามสิ่งที่ตัวเองสนใจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด คุณพ่อคุณแม่จึงมีเวลาให้กับการหารายได้ รวมทั้งสามารถพักผ่อนได้มากขึ้น ในขณะที่เด็กๆสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้มากมายโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหนีออกไปเล่นซนจนคุณพ่อคุณแม่ต้องกังวล

เพื่อคลายข้อสงสัยของคุณพ่อคุณแม่ พญ.สิจา ลีลาทนาพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวช รพ.วิชัยเวช หนองแขม ให้ข้อแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ถ้าไม่อยากให้ลูกติดมือถือไว้แบบนี้ค่ะ

คุณหมอบอกว่า เกณฑ์ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง คือ อย่าเพิ่งให้เด็กที่เล็กมาก ๆ ใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น มือถือ แท็บเล็ต ทีวี หรือสื่ออิเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ ถ้าจำเป้นต้องให้ลูกดูจริง ๆ ควรเป็นเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี ปัญหาเรื่องลูกติดมือถือ จริง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเด็ก แต่ขึ้นกับพ่อแม่ เพราะธรรมชาติของเด็กเขาจะมีความสุขกับการที่มีพ่อแม่มาเล่นด้วย เมื่อมีพ่อแม่มาเล่นด้วย มาใช้เวลาร่วมกัน เขาจะให้ความสนใจพ่อแม่มากกว่าอยู่แล้ว เขาจะไม่ได้สนใจมือถือ แต่อาจจะมีกรณีที่ลูกร้อง ลูกเสียงดัง แล้วพ่อแม่หยิบมือถือให้แล้วเปิดให้ดูการ์ตูน แล้วปรากฏว่าลูกเงียบ หลังจากนั้นพ่อแม่ก็ติดใจ ว่าวิธีนี้ทำให้ลูกไม่ร้องได้ ลูกอยู่นิ่งนะ คุณพ่อคุณแม่ก็เลยให้ลูกดูต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นที่ลูกติดมือถือ ไม่ได้ติดที่ตัวเด็ก แต่ติดที่พ่อแม่ คือพ่อแม่เป็นคนหยิบยื่นมือถือให้เขามากกว่า หรือกรณีลูกไม่กินข้าว ลูกปฎิเสธอาหาร พอเปิดการ์ตูนให้ดู ลูกนั่งกินข้าวดี คุณพ่อคุณแม่ก็เลยใช้วิธีนี้ตลอด คือเป็นมือถือให้ลูกดูตอนกินข้าว ถ้าเราวิเคราะห์กันจริง ๆ แล้วก็มาจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่

จริง ๆ แล้วตัวมือถือเอง ไม่ได้อันตราย แต่การใช้เวลากับมือถือมาก ๆ จะทำให้เด็กหลายคนไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะแบ่งหัวข้อให้เข้าใจง่าย ๆ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง หากลูกติดมือถือ หรือแท็บเล็ต จะแบ่งออกเป็น

  • เรื่องของร่างกาย – หากเด็กดูมือถือ เป็นเวลานาน ๆ แสงสว่างจากหน้าจอ อาจทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น มีอาการปวดตา แสบตาจนลืมตาไม่ขึ้น สายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน อาจจะเกิดความเครียด มีอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลีย ไม่มีแรง บางคนเล่นมากจนไม่สนใจเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิน ไม่สนใจเรื่องนอน เช่น สิ่งที่เคยชอบกิน ก็อาจจะไม่กิน คือจริงจังกับการเล่นมาก ทานไม่เป็นเวลา แล้วก็อีกกรณีนึงเช่น บางคนเล่นไป กินไป กินตลอดเวลา จนเกิดภาวะโรคอ้วน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบในเรื่องของการนอน เพราะเด็กบางคนจะเล่นมือถือจริงจัง เหมือนเขาเล่นเกมแล้วเขายังมีความต่อเนื่องอยู่ บางคนนอนแล้วก็แอบตื่นขึ้นมา เพื่อที่จะเล่นเกม การ ไม่กิน ไม่นอน ก็จะทำให้เป้าหมายหลักที่เด็ก ๆ ต้องไปเรียนหนังสือ เกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากอ่านหนังสือ บางคนผลการเรียนก็จะลดลง
  • เรื่องของอารมณ์ – ด้วยความที่เทคโนโลยีในปัจจุบัน ตอบสนองไว ทำให้เด็กหลายคนหงุดหงิดง่าย เมื่อโลกในความเป็นจริง ไม่ได้ตอบสนองไวเหมือนในมือถือ เวลาเล่นเกม เราจะมีเล่นแล้วหยุด เล่นแล้วเบรค เล่นแล้วถอยหลังได้ กลับไปแก้ไขได้ แต่ว่าในชีวิตจริงไม่ใช่ ดังนั้นเด็กที่ไม่ได้มีประสบการณ์อยู่ในชีวิตจริงมากพอ เวลาเจอของจริงก็จะหงุดหงิด แล้วก็อีกส่วนนึงก็จะวอกแวกง่าย เพราะเขาเปลี่ยนเรื่องง่าย ฟังอะไร ก็จะรู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย ที่เคยรู้สึกว่าคุยด้วยราบรื่นดี คุยด้วย ฟังได้ ตอนนี้ฟังอะไร ก็จะรู้สึก หงุดหงิด โมโห เพราะเขาก็จะอยากกลับไปเล่นอีก
  • เรื่องของสังคมและภาษา – เนื่องจากมือถือเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กจะนั่งดูอย่างเดียว เขาไม่ได้โต้ตอบ จะทำให้สูญเสียเรื่องทักษะของภาษา การออกเสียง การพูด การสื่อสารกับบุคคลอื่นก็จะเสียไป เพราะเวลาตัวการ์ตูนพูด การ์ตูนจะพูดเร็ว แค่ขยับตามแอนิเมชั่น แต่ไม่ได้เห็นปาก ว่าต้องขยับยังไง เพราะเด็กจะพูดได้ คือเขาต้องได้ยินชัด และสื่อออกมาโดยการอ้าปาก แล้วก็พูดออกมา ซึ่งส่วนมากเด็กก็จะพูดตามพ่อแม่ เห็นลักษณะรูปปาก เห็นลักษณะลิ้น ได้ยินเสียง เขาก็จะพูดตาม แต่ตัวการ์ตูนไม่ได้ทำได้อย่างนั้น บางครั้งเราเลยเห็นเด็ก ที่ส่งเสียงออกมาเป็นภาษาต่างดาว เขาจะพูดไม่เป็นคำ ไม่ได้คำศัพท์อะไร เพราะเขาฟังไม่ถนัด พูดออกมาก็เลยไม่รู้ว่าจะพูดอะไร เขาก็จะเสียทักษะด้านภาษา ทำให้ภาษาเขาช้า และที่สำคัญเมื่อเข้าอยู่ในโลกของการ์ตูน เขาก็ไม่อยากจะมีปฎิสัมพันธ์กับคนภายนอก รู้สึกว่าคนทั่วไปไม่ได้มีสีสันสดใส ไม่น่าสนใจ ก็จะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องของสังคม

มือถือหรือสมาร์ทโฟน ทำให้ลูกสมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้จริงหรือ?

ตัวมือถือเองไม่ได้ทำให้เด็กเป็นคนสมาธิสั้นนะคะ แต่วิธีการใช้สื่อที่กระตุ้นพฤติกรรมเด็ก จะทำให้เด็กสมาธิสั้น ไม่เกิดการเรียนรู้ รอคอยไม่เป็น อย่างบางครั้งเราจะเห็นเด็ก

เขาสามารถเปิดคลิปยูทูปได้  ภาพในมือถือมันจะไปเร็ว ยิ่งมีแอนิเมชั่น ทุกอย่างดูเร็ว เด็กก็จะชินกับความรวดเร็วในโลกของการ์ตูน ถ้าไม่พอใจคลิปนี้ก็เลื่อนเปลี่ยน เด็ก ๆ ที่เล่นเกม เดี๋ยว ๆ ก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เปลี่ยน อันนี้เขาก็จะนำมาใช้ในการเปลี่ยนวิธีการตอบสนองของเขาในชีวิตจริง  ในชีวิตจริง พอเขาไม่พอใจอะไร เขาไม่สามารถเปลี่ยน หรือย้อนกลับไปจุดเดิมได้เหมือนในมือถือ ก็จะทำให้เขาหงุดหงิดง่าย ใจร้อน บางครั้งก็จะมีอาการวอกแวกง่าย ไวต่อสิ่งเร้า ได้ยินเสียงอะไรก็จะวอกแวก ไม่มีสมาธิกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ก็จะดูคล้ายคนสมาธิสั้น และก็อีกส่วนนึงก็คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ต้องอดทนรอคอย เช่น เวลาเขาไม่พอใจ เขาลบอันนั้นทิ้ง กลับไปเล่นใหม่ ลบอันนั้นทิ้ง กลับไปเล่นใหม่ ทำให้เขาไม่ได้ฝึกการรอคอยในชีวิตจริง

วิธีแก้ไขเมื่อลูกติดจอ หรือมือถือ?

ประเด็นเริ่มต้นที่สำคัญ ถ้าเด็กติดมือถือแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้นะคะว่า มือถือไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ตุ๊กตา ไม่ใช่บ้านบอล มือถือไม่ใช่อุปกรณ์ที่มาใช้เลี้ยงลูก คนที่จะต้องเลิกก่อน ก็คือพ่อแม่ต้องเลิกเอามือถือให้ลูก ไม่ใช่เลิกที่ลูก หรือถ้าจำเป็นที่จะต้องใช้จริง ๆ เราควรทำอย่างไร ก็แนะนำว่า

  1. พ่อแม่ควรเริ่มตกลงเวลากับลูกก่อน การตั้งกติการ่วมกัน จะทำให้คุณพ่อคุณแม่คุยกับลูกได้ง่ายขึ้น เช่น วันหนึ่ง ใช้มือถือไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันในวันธรรมดา แต่เมื่อภารกิจต่าง ๆ เสร็จ สามารถระบุไปได้เลยค่ะ ว่ากี่โมงถึงกี่โมง แล้วจะให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยยังไง เมื่อเวลาใกล้จะหมด เช่น อาจจะช่วยเตือนสัก  15 นาทีก่อนเวลาหมด วันเสาร์อาทิตย์ก็หนึ่งชั่วโมง  2 ครั้งได้ หนึ่งชั่วโมงเช้า หนึ่งชั่วโมงบ่าย แล้วก็ชมลูก เมื่อลูกทำได้ตามเวลาที่เราตกลงกัน
  2. คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลาร่วมกันกับลูก ออกไปทำกิจกรรมกับลูกบ้างหรือแม้แต่อยู่ในบ้าน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นวาดรูป ระบายสี ขีดเขียน ให้เขาเล่าเรื่องที่โรงเรียน หรือแม้แต่ช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานบ้าน  เอางานของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกได้ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแชร์กัน เหมือนเราอยู่ด้วยกัน เด็กก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
  3. สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้นแบบ ต้นแบบที่ดีคือ ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ คือใช้เวลาคุณภาพกับลูกและควบคุมการใช้สื่ออย่างมีเวลาเหมือนกัน ถ้าเกิดลูกบอกมาว่าพ่อแม่อยากให้ใช้แค่ 1  ชั่วโมง อยากให้เขาใช้ 1 ชั่วโมง พ่อแม่ก็ต้อง 1 ชั่วโมง เราอาจจะมีเหตุผลบอกว่าพ่อแม่ทำงาน แต่ตัวพ่อแม่เองก็ต้องแบ่งเวลา เช่น เวลานี้กลับบ้าน อยู่ด้วยกัน กินข้าวร่วมกัน ก็ไม่ควรจะอยู่ติดกับจอ เพราะฉะนั้นเราก็จะได้แต่บอกโดยที่เรา ไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้นให้ลูกเห็น ก็อาจจะยากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก

โดยรวมนะคะ ก็อยากจะให้ทุกคนควบคุมเวลาในการใช้สื่อกับลูก ตกลงเวลาร่วมกัน และเป็นต้นแบบที่ดี ก็น่าจะทำให้ลูกใช้กิจกรรมอื่นที่ทดแทนการใช้มือถือได้

 

 

 

ลูกมีปัญหาด้านพัฒนาการ พูดช้า ดื้อ ซน ต่อต้าน สมาธิสั้น IQ&EQ ออทิสติก
ติดต่อศูนย์พัฒนาการเด็ก
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line