โรคเก๊าท์ เป็นโรคข้อชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเพศชาย ร้อยละ 93 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 3-7 สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงหลังหมดประจำเดือน
โรคเก๊าท์ มีสาเหตุมาจากระดับกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ
- ผู้ชายปกติ จะมีกรดยูกริกในเลือดสูงไม่เกิน 7 มก.%
- ผู้หญิงปกติ จะมีกรดยูกริกในเลือดสูงไม่เกิน 6 มก.%
ถ้ากรดยูริกในเลือด หรือในร่างกายสูงกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้กรดยูริกไปตกตะกอนในข้อต่อ ทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อ ถ้ามีกรดยูริกสูงนาน ๆ กรดยูริกจะไปตกตะกอนในไตทำให้เกิดนิ่วในไต หรือไปเกาะตามผิวหนังจะเป็นก้อนตะปุ่มตะปั่มตามผิวหนังที่เรียกว่า Trophi การเกิดเก๊าท์มักต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานพอสมควร โดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า โรคเก๊าท์ เกิดจากการรับประทานอากหารประเภทสัตว์ปีกหรือเครื่องในสัตว์ ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากจริง ๆ แล้วโรคเก๊าท์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของร่างกาย ที่ไม่สามารถขับกรดยูริกจากร่างกายได้ ซึ่งอาหารทุกชนิดที่เรารับประทานเข้าไป จะกำจัดกรดยูริกออกจากร่างกายโดยการย่อยของเอนไซม์ในร่างกายและขับออกทางปัสสาวะ กลไกนี้จะเสียไปในคนที่เป็นโรคเก๊าท์ ทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ
โรคเก๊าท์ มีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างฉับพลันทันทีทันใด โดยมักเริ่มจากข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกต้อง อาการอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยปวดถี่ขึ้นและนานขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไต นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวาย
โดยสามารถแบ่งอาการสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะเฉียบพลัน จะมีอาการปวดข้อทันทีทันใดในชั่วระยะข้ามคืน พบบ่อยที่นิ้วหัวแม่เท้าและข้อเท้า อาการปวดแบบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้การรักษา อาการปวดอาจจะหายเองได้ แต่ก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก และจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ
- ระยะช่วงพัก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์ ในระหว่างที่ไม่มีอาการปวดข้อจะรู้สึกว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนอื่น ๆ แต่ช่วงที่ปวดจะเริ่มสั้นลงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
- ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่เป็นมานานกว่า 10 ปีขึ้นไป จะมีเกลือรูเรทไปเกาะตามเส้นเอ็น ข้อต่อหรือกระดูกอ่อน ก้อนนี้จะมีลักษณะแข็งคล้ายกระดูก
การตรวจวินิจฉัยโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์ ยืนยันได้จากอาการแสดง และผลตรวจ Uric acid ในกระแสเลือดแล้วพบว่าสูงกว่าปกติ ซึ่งค่าปกติของกรดยูริคในเลือด อยู่ที่ประมาณ (ผู้หญิง 2.6 – 6.0,ผู้ชาย 3.5 – 7.2 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) (ในกรณีที่ตรวจเลือดแล้วพบค่า uric acid สูงกว่าปกติ แต่ยังไม่มีอาการของโรคข้ออักเสบ (เก๊าท์) จะเป็นเพียงแค่ภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเท่านั้น)
ดังนั้น เมื่อพบว่ามีระดับกรดยูริคในเลือดสูง ร่วมกับอาการปวดตามข้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและทำการรักษาต่อไป
นอกเหนือจากการตรวจร่างกายแล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคเก๊าท์ได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- เจาะน้ำในข้อที่มีอาการออกมาตรวจว่ามีผลึกของกรดยูริกหรือไม่ ถือเป็นวิธีหลักในการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเจาะ เพราะหากผู้ป่วยยังมีอาการปวดมาก อาจไม่สมควรเจาะในขณะนั้น แต่อาจให้รับประทานยาเพื่อให้หายอักเสบก่อน
- เจาะเลือดดูระดับกรดยูริกว่าสูงมากน้อยเพียงใด เป็นการตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่พร้อมรับการเจาะน้ำในข้อ ทั้งนี้ระดับกรดยูริกสูงไม่ได้หมายความว่าเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกในข้อเสมอไป
- การตรวจ dual energy CT scan เป็นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้แพทย์เห็นผลึกของกรดยูริกที่ตกตะกอนอยู่ในข้อได้โดยไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำออกมาตรวจ แต่การตรวจแบบนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ผลึกจับตัวเป็นก้อนใหญ่จนสามารถเอกซเรย์เห็นได้ ซึ่งแพทย์จะประเมินจากลักษณะข้อที่ผิดปกติ หรือระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นๆ หายๆ มานาน 5-10 ปี
การรักษาโรคเก๊าท์
แนวทางการรักษาโรคเก๊าท์คือการลดกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลง ซึ่งทำได้โดยการรับประทานยาละลายผลึกกรดยูริกแล้วให้ร่างกายขับออก เมื่อกรดยูริกลดต่ำลงก็จะเกิดการอักเสบน้อยลง ซึ่งจะไม่มีการรักษาด้วยวิธีอื่น ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการรักษาอาการอักเสบเฉียบพลันแล้ว ยังเป็นการป้องกันการกลับมาสะสมใหม่และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคในระยะยาว
เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา