หลายคนมีอาการใจสั่น แล้วเกิดข้อสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร บางคนมีความรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วมาก จะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง รพ.วิชัยเวชฯหนองแขม ไขข้อสงสัยเรื่องนี้แบบเข้าใจง่าย ๆ
ทำความรู้จักหัวใจของคนเราก่อน
หัวใจของคนเราจะมีขนาดเท่ากำปั้น อยู่บริเวณช่องอก เยื้องไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย มีหน้าที่ในการบีบตัว สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
อัตราการการเต้นของหัวใจ
- หัวใจเต้น 60-100 ครั้งต่อนาที : ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หัวใจเต้นเกิน 100 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
- หัวใจเต้นเกิน 150 ครั้งต่อนาที : มีภาวะหัวใจเต้นเร็วมากเข้าขั้นอันตราย
สาเหตุของอาการใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว แบ่งออกเป็น
1. หัวใจเต้นเร็วเพราะหัวใจถูกกระตุ้น ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ เช่น อยู่ในภาวะตกใจ หรือไปออกกำลังกาย เสียเลือดมากจนซีด ขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก็จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วได้
2. หัวใจเต้นเร็วเพราะระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ แบ่งออกได้เป็น
- จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องบน Supraventricular Tachycardia หรือที่เรียกว่า SVT เกิดจากทางเดินของกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นจากปกติ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วจากภาวะปกติ
- จุดกำเนิดหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะที่หัวใจห้องล่าง Ventricular Tachycardia หรือที่เรียกว่า VT เกิดจากการมีจุดกำเนิดที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นในหัวใจห้องล่าง
ทำความรู้จักหัวใจเต้นเร็ว
หัวใจเต้นเร็วรูปแบบนี้จะมีลักษณะจำเพาะ โดยที่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นมาอย่างฉับพลันจากภาวะปกติ เช่น จากที่หัวใจเต้น 80 ครั้งต่อนาทีอยู่ดี ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 140 ครั้งต่อนาที ภายในเวลาชั่วพริบตา ทำให้รู้สึกถึงอาการใจสั่น และก็จะสามารถลดลงกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้อย่างทันที ซึ่งระยะเวลาที่หัวใจเปลี่ยนจังหวะการเต้นอย่างฉับพลันขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของแต่ละบุคคล
อาการหัวใจเต้นเร็ว แบ่งออกเป็น
1. อาการไม่รุนแรง อาการที่สามารถพบได้
- ใจสั่นแบบทันทีทันใด
- ใจหวิว
- มึนงง
- อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือจุกบริเวณลำคอ
- มีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีและสามารถหายได้เอง
2. อาการแบบรุนแรง มีอาการหัวใจเต้นเร็วนานหลายนาที หรือหลายชั่วโมง บางรายมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตทันที
การวินิจฉัยสำหรับผู้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- สำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วเป็นครั้งคราว การวินิจฉัยอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากอาการอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นขณะเข้ารับการตรวจหรืออยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งการวินิจฉัยอาจจะต้องใช้เครื่องติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ Holter Monitoring เป็นเครื่องขนาดเล็ก สามารถพกพาติดตัวไปได้ โดยเครื่องจะทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ถึง 48 ชั่วโมง หลังจากที่ได้ข้อมูลการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 48 ชั่วโมง ทำให้แพทย์สามารถวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจได้ โดยพิจารณาอาการร่วมที่เกิดขึ้นขณะที่คนไข้ติดเครื่อง Holter Monitoring
- การตรวจด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ โดยจะทำการตรวจให้ห้องสวนหัวใจ
แนวทางการรักษา
- การใช้ยารับประทาน ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมอาการได้
- การผ่าตัด เป็นการรักษาที่ได้ผลดี และสามารถรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทให้หายขาดได้ แต่เป็นการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด
- การรักษาด้วยไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (Radiofrequency Catheter Ablation : RFCA) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์จะใช้สายสวนชนิดพิเศษใส่ไปในตำแหน่งที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และชักระแสไฟฟ้าที่มีความถี่สูงเท่ากับคลื่นวิทยุจี้ยังตำแหน่งที่มีความผิดปกติ ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึก ยาระงับประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยนิ่งตลอดระยะเวลาการรักษา โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-4 ชั่วโมง การรักษาด้วยวิธีนี้มีผลของความสำเร็จถึง 90-95% แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาได้ เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติหลังการรักษา แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา