วัณโรค เป็นโรคที่คนไทยคุ้นหู และรู้จักกันมากนาน แต่จนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยก็ยังคงรุนแรง มีผู้ป่วยรายใหม่และผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำกว่า 7 หมื่นราย วัณโรคเป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับปอดโดยตรง แล้ววัณโรคเกิดจากอะไร สัญญาณเตือนวัณโรคมีอะไรบ้าง ไปทำความรู้จักโรคนี้กันครับ
วัณโรคเกิดจากอะไร
วัณโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium ที่พบบ่อยในประเทศไทย เกิดจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TB เชื้อวัณโรคจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการหายใจ และมักจะไปฟักตัวอยู่ที่ปอดกลีบบน ซึ่งเป็นส่วนที่มีออกซิเจนมากที่สุด โดยมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 4-8 สัปดาห์หลังจากนั้นจะเริ่มทำลายเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ และเป็นปอดอักเสบชนิดเรื้อรัง
สัญญาณเตือนวัณโรค
เมื่อเชื้อวัณโรคเริ่มเข้าไปทำลายปอด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
- มีไข้ต่ำ ๆ
- มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- ในระยะแรกจะมีอาการไอแห้ง ๆ ต่อมาจะไอมีเสมหะ และไอมากยิ่งขึ้นเวลาเข้านอน ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหาร อาการไอเรื้อรังอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือน
- ผู้ที่เป็นมาก ๆ อาจจะจะไอแล้วมีอาการหอบร่วมด้วย หรือไอแล้วมีก้อนเลือดสีดำ หรือแดงออกมา
- บางรายอาจมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอก แต่ไม่มีอาการไอ กรณีนี้มักจะเกิดจากการตรวจพบโดยบังเอิญ จากการเห็นจุดในปอดด้วยการเอกซ์เรย์ปอด
ข้อสังเกตที่ต้องระวัง : มีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการไอและมีเสมหะปนเลือด ควรรีบพบแพทย์
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง และควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความเสี่ยงวัณโรค
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง เช่น โรคไต เบาหวาน ผู้ที่ติดเชื้อ HIV (ผู้ป่วยโรคเอดส์) หรือคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัด
- ผู้ที่ขาดสารอาหาร หรือมีภาวะโภชนาการไม่ดี เช่น ผอมกว่ามาตรฐาน หรืออ้วนเกินมาตรฐาน
- ผุ้ที่มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคปอด ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมาก เพราะหากได้รับเชื้อจะมีอาการทรุดหนักทันที
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- คนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ผู้ต้องขัง
- ผู้ที่ทำงานในสายงานที่ต้องอยู่กับฝุ่นหรือมลภาวะ จะกระตุ้นให้เกิดวัณโรคได้ง่าย เช่นผู้ที่ทำงานเหมืองแร่ คนงานก่อสร้าง หรือผู้ที่ขับขี่รถโดยสารสาธารณะต่าง ๆ
- ผู้ที่ติดสารเสพติดชนิดฉีด
- เด็ก หากวัณโรคเกิดขึ้นกับเด็ก อาการมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิคุ้มกันน้อย เชื้อวัณโรคอาจแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก ไต หรือลำไส้
- ผู้สูงอายุ
การวินิจฉัยวัณโรค
- โดยปกติแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากการซักประวัติและสอบถามอาการเจ็บป่วย
- ตรวจร่างกายทั่วไป ซึ่งสามารถวินิจฉัยโรคได้ระดับหนึ่ง
- เอกซ์เรย์ปอด
- แต่การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องทำการตรวจหาเชื้อวัณโรคจากเสมหะ โดยตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือจากการนำเสมหะไปเพาะหาเชื้อโดยวิธีย้อมสี ร่วมกับการเอกซ์เรย์ปอด. (X-Ray ปอด) ถึงจะวินิจฉัยอาการของวัณโรคได้อย่างแน่นอน
เพราะวัณโรค หากเกิดการติดเชื้อแล้ว ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาเป็นเวลานาน และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันกว่า 6 เดือน หากกินยาไม่ต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเชื้อวัณโรคเป็นโรคที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่ายมาก
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา