ปัจจุบันพบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็เข้าขั้นรุนแรงยากที่จะรักษา เพราะฉะนั้นหากรู้ก่อนตั้งแต่เริ่มแรก ยังช่วยให้มีโอกาสในการรักษาและหากขาดได้ โปรแกรมการตรวจสุขภาพส่วนใหญ่ จึงมีรายการตรวจเลือด เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ที่จะบอกว่าผู้ตรวจมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งการเจาะเลือดเพื่อตรวจหามะเร็งเบื้องต้น ด้วยวิธีที่เรียกว่า Tumor Marker (สารบ่งชี้มะเร็ง) เป็นวิธีที่ถูกนำมาใช้กันมาก เพราะสะดวกและเจ็บตัวน้อยที่สุด โดยสามารถตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งได้มากกว่า 11 ชนิด
ซึ่งการตรวจหาระดับของสารในเลือดนั้น ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกชนิด และหากผลการตรวจ ค่าบางชนิดมีค่าสูง ก็ไม่ได้บอกว่าผู้ตรวจจะเป็นมะเร็งเสมอไป คุณหมออาจะแนะนำให้มีการตรวจอย่างอื่นร่วมด้วย เพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจอัลตราซาวน์
ข้อควรรู้เกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็ง
- ระดับสารบ่งชี้ Tumor Maker บางชนิดอาจพบว่ามีค่าสูงได้ในโรคบางชนิด แต่ไม่ใช่มะเร็ง
- โรคมะเร็งบางชนิด เมื่อเจาะเลือดก็ไม่พบ โดยเฉพาะมะเร็งในระยะเริ่มต้น
- มะเร็งหลายชนิด สามารถสร้างสารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Marker ได้เหมือนกัน
- อาจตรวจพบระดับtumor marker ในปริมาณต่ำๆ ได้ในคนปกติ และ/หรือ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบ และ/หรือ มีพยาธิสภาพอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign disease)
- การตรวจพบระดับtumor marker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมไปกับผลการตรวจทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ การตรวจซ้ำเป็นระยะเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อศึกษาดูว่าระดับของสารบ่งชี้มะเร็ง ( tumor marker) ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นเช่นไร ถ้าตรวจซ้ำแล้วพบว่าระดับ tumor marker สูงขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นเครื่องชี้แนะให้สงสัยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วระดับลดลง น่าจะบ่งชี้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง
- ระดับสารบ่งชี้มะเร็งtumor marker ที่ตรวจวัดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และ/หรือ ใช้วิธีการเดียวกันแต่ใช้ชุดน้ำยาตรวจ ต่างกัน อาจให้ค่าที่มีความแตกต่างกันได้ ดังนั้น การติดตามผลการทดสอบ ควรพิจารณาจากผลการตรวจของห้องปฏิบัติการเดียวกันทุกครั้ง
สารบ่งชี้มะเร็งมีอะไรบ้าง
- Prostatic Specic Antigen (PSA) เป็นการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจพบ PSA สูงก็ไม่ต้องตกใจ เพราะอาจจะหมายถึงต่อมลูกหมากโต ไม่ใช่มะเร็ง
- Prostatic Acid Phosphatase (PAP) พบได้สูงในมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และพบได้ในโรคต่อมลูกหมากโต ตับแข็ง กระดูกพรุน
- CA125 พบได้สูงในมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก ตับอ่อน ลำไส้ใหญ่ เต้านมและปอด นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เยื่อบุช่องทางอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ โรคตับ และเยื้อหุ้มปอดอักเสบ
- Carcinormbryonic Antigen (CEA) สารตัวนี้จะพบสูงในมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะในภาวะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปแล้ว หรืออาจมีค่าสูงในภาวะที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
- Alpha-Fetoprotein (AFP) หากตรวจพบสารนี้มีค่าสูง แสดงว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งตับ มะเร็งลูกอัณฑะ หรือมะเร็งรังไข่ หรืออาจตรวจเจอในภาวะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ตับแข็ง หรือตับอักเสบ
- Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ปกติสารนี้จะสร้างจากรก จะพบสารตัวนี้สูงในคนที่ตั้งครรภ์ แต่หากพบว่ามีค่านี้สูงในคนปกติ อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นมะเล็กปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งปอด
- CA19-9 สารตัวนี้จะสูงในมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งถุงน้ำดี หรือค่าสูงจากภาวะโรคอย่างอื่น เช่น ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
- CA-15-3 สารนี้เป็นสารที่ติดตามมะเร็งเต้านมได้ดีที่สุด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายแล้ว เพราะมะเร็งในระยะเริ่มแรกค่าสารนี้จะไม่สูง ถ้าจะให้ได้ค่าที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นควรตรวจ Mammogram ร่วมด้วย
- LDH (Lactate Dehydrogenase) สารนี้ไม่เจาะจงมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ใช้ในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติในร่างกาย และช่วยในการติดตามรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
- Neuron Specic Enolase (NSE) สามารถพบว่ามีค่าสูงกว่าปกติในมะเร็งที่มีกำเนิดมาจากเซลล์ในกลุ่มระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (Neuro Endocrine) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งของระบบประสาท (ท้าวแสนปม)
- Free PSA เป็นสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก และควรตรวจกับ Total PSA
- Human Growth Hormone (HGH) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งที่ปอด มักตรวจร่วมกับ NSE
- Ferritin สารนี้สามารถพบค่าสูงในมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ และถ้าพบว่าค่า ferritin สูงพร้อมกับ CEA อาจบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ถ้าค่า Ferritin น้อยเกินไป ก็สามารถพบได้ในโรคโลหิตจาง
จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็ง นอกจากเพื่อวินิจฉัยแล้ว ก็ยังนำไปใช้ในการติดตามผลและช่วยเลือกวิธีรักษาโรคมะเร็งที่เหมาะสม สารบ่งชี้มะเร็งหลายชนิดสามารถตรวจพบได้ในคนปกติ และขณะเดียวกันก็อาจตรวจไม่พบความผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งบางราย ดังนั้น เวลาตรวจหาค่าสารบ่งชี้มะเร็ง คุณหมอจะสอบถามประวัติ เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยร่วมด้วย เช่น
- ในครอบครัว ญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคมะเร็งหรือไม่
- แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยหรือไม่
- มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือไม่
- ปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือไม่
- ขับถ่ายผิดปกติหรือเปล่า น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติไหม หรือมีอาการเบื่ออาหารหรือเปล่า
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะบ่อย มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุดหรือเปล่า
ดูแลร่างกายให้พร้อม เพื่อสุขภาพที่ดี
ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น
ติดต่อ ศูนย์ตรวจสุขภาพ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา