โรคปวดหลังจากการทำงาน หรือที่เรียกว่า Occupational Back Painถือเป็นอาการอันดับต้น ๆ ที่ผู้ป่วยเข้ามาขอรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะที่ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม อาการปวดหลังมักจะพบได้ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาว คนทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ
อาการปวดหลังที่พบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน แบ่งออกเป็น
1. เกิดจากลักษณะงานที่มักต้องใช้แรงกล้ามเนื้อหลังมากกว่าปกติ เช่น
- การก้มยก การก้ม ๆ เงย ๆ
- การก้มทำงานในท่าไม่สะดวกสบายหลัง
- มีการเอื้อมยืดแขนทำงาน
- ยกของหนักเกินกำลัง
- การบิดหมุนตัวซ้ำ ๆ อย่างรวดเร็ว
มีผลทำให้เกิการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหลัง เอ็นยึดข้อต่อกระดูกสันหลัง อาจรุนแรงถึงหมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวฉีกขาดได้ อาการปวด จะรู้สึกปวดมากบริเวณเอวส่วนล่าง อาจร้าวไปถึงสะโพก และหากเกิดอาการบาดเจ็บรุนแรง จนมีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกสันหลัง แล้วเคลื่อนไปกดเบียดทับเส้นประสาท ก็อาจเกิดอาการปวดร้าวลงขาได้
2. เกิดจากการนั่งทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้อง เช่น
- นั่งทำงานบนเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิงหลังเป็นเวลานาน
- นั่งเอื้อมมือยืดแขนทำงาน
จะทำให้ปวดในตำแหน่งกลางแผ่นหลังแบบปวดทั่ว ๆ ทั้งหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังต้องพยายามดึงลำตัวให้ยืดตรงตลอดเวลา จนเกิดอาการเมื่อยล้า
3. เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป การใช้โน๊ตบุค แท็บเล็ตติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน ปวดบ่า ปวดสะบัก และต้นคอ เนื่องจากการทำงานต้องก้มคอ ยืดคอ หรือเกร็งคอเป็นเวลานาน
เพราะฉะนั้นอาการปวดหลังจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้แรงกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนมากเกินไปและใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปกติในขณะที่กำลังทำงานมักจะไม่ค่อยรู้สึกถึงอาการปวด หรืออาจจะแค่รู้สึกเมื่อย และคิดว่ายังทำไหว หลายคนก็ยังฝืนทำต่อ แต่อาการเมื่อยที่เกิดขึ้น ถือเป็นสัญญาณเตือนของร่างกายที่ไม่อยากให้เราทำงานในท่านั้น ๆ ต่อไป
แต่คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจสัญญาณเตือนของร่างกาย เพราะคิดว่ายังทำได้ ก็เลยยังทำงานในท่าเดิมๆ หรือยังก้ม เอื้อมทำงานในท่าท่าผิด ๆ ทำให้เกิดการเมื่อยล้าสะสม จนกลายเป็นปวดเมื่อยเนื่องจากกล้ามเนื้อออกแรงต่อเนื่องฝืนธรรมชาติเป็นเวลานาน เมื่อเลิกจากงาน ความเมื่อยล้าก็จะยังคงอยู่ กลับมาบ้านก็ปวด นอนก็ปวด หรือหลับไปตื่นมาอาการปวดก็ยังอยู่ บางคนเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะที่นอน หมอน หรือท่านอนที่ไม่ถูกต้อง แต่จริง ๆ แล้วเป็นการปวดสะสมจากการฝืนใช้กล้ามเนื้อจากการทำงานจนกล้ามเนื้อล้า และหากมีพฤติกรรมที่ต้องปฎิบัติงานสะสมแบบเดิมทุก ๆ วัน ยิ่งทำให้ความปวดมีความต่อเนื่องจนกลายเป็นการปวดแบบเรื้อรัง
การรักษาโรคปวดหลังจากการทำงาน
จุดแรกต้องมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวด เน้นการประเมินการทำงานที่ถูกต้อง ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดท่าการทำงานที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หลีกเลี่ยงท่าการทำงานที่อาจทำให้เกิดการปวดเมื่อยเป็นเวลานานติดต่อกัน
ส่วนการรักษาทางยา เพื่อลดอาการปวด มีตั้งแต่ยากลุ่มลดปวดทั่ว ๆ ไป ยาลดปวดรุนแรง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านการอักเสบ ยาทาภายนอก การประคบถุงน้ำร้อนบริเวณที่ปวด นอกจากนี้อาจใช้การทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ถ้าอาการปวดมากขึ้น หรือใช้การรักษาแบบแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม หรือ การนวดแผนไทย
ส่วนใหญ่การรักษาแบบประคับประคองนั้นเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายจากอาการปวดหลังได้ และสามารถกลับไปทำงานได้ในระยะเวลาอันสั้น มีเพียงส่วนน้อยที่อาการปวดไม่ทุเลา มีความจำเป็นต้องทำการตรวจซ้ำ โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเพื่อประเมิน คุณหมออาจแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง อาทิ การตรวจเอ็กซ์เรย์กระดูกสันหลัง การตรวจเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็ก หรือตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ต่อไป
เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา