การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL)จะอยู่ตรงบริเวณจุดกึ่งกลางข้อเข่า ยาวไปตามแนวเฉียงจากด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง เป็นเส้นเอ็นที่คอยทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกหน้าแข้งให้สามารถเคลื่อนไหวได้มุมต่างๆ

ผศ.ดร.นพ.บวรรัฐ วนดุรงค์วรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประจำศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ได้ทราบกันครับ

สาเหตุที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีดขาด มักมีสาเหตุอยู่ 2 ประการ

  1. การบาดเจ็บที่เกิดจากกการปะทะ เช่น ทำให้เกิดการบิดของเข่า เมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ หรือเกิดจากการโดนกระโดดถีบ หรือรีบยกเท้า
  2. การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ

มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บ แต่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปสะสมมากกว่าเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดในทันที

เมื่อเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด จะมีเลือดออกภายในข้อ การที่มีเลือดออกภายในข้อ จะทำให้ข้อเข่ามีอาการบวม รู้สึกเจ็บที่ข้อเข่าเป็นอย่างมาก การเคลื่อนไหวของข้อเข่าจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียด หรืองอได้ลดลง อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ต่อมาผู้ป่วยจะรู้สึกว่าข้อเข่าหลวม ไม่มั่นคง มีอาการเข่าพลิกหรือข้อเข่าเคลื่อนออกจากกัน โดยเฉพาะเวลาบิดขา หรือเดินผิดท่าทาง ส่วนใหญ่จะไม่สามารถวิ่งซิกแซ็กได้ หรือวิ่งแล้วจะหยุดทันทีทันใดไม่ได้เนื่องจากข้อเข่าจะเคลื่อน บางทีอาจจะเข่าหลุดเลยก็มี ในรายที่มีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า ซึ่งพบร่วมกันได้ คนที่เอ็นขาดแล้วยังเล่นกีฬาต่อไป จะมีอาการเจ็บตามแนวข้อต่อหรือมีอาการข้อเข่าติดร่วมด้วย  บางทีเข่าล็อก อาจทำให้คนไข้ หรือผู้ป่วยมีการเดินกะเผลก การเคลื่อนไหวลำบาก จนบางครั้งไม่สามารถเดินได้เอง ต้องใช้ไม้พยุง

ความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็น  แบ่งได้เป็น  3 ระดับ

ระดับที่ 1  มีการฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเอ็น  แต่เอ็นยังไม่ยึดหรือขาดให้เห็นชัดเจน
ระดับที่ 2  เอ็นฉีกขาดบางส่วน
ระดับที่ 3  เอ็นฉีกขาดแยกออกจากกันทั้งหมด

สัญญาเตือนที่บอกว่า ควรรีบมาพบแพทย์…!!

  • เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาด จะได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop) และรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรดีดอยู่ข้างในขา
  • มีอาการปวดภายในเข่าลึกๆ เข่าบวมทันที ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้หรือลงได้ไม่เต็มที่
  • มีอาการเข่าบวมและเลือดออกในหัวเข่า ภายใน 1 – 2 ชั่วโมงจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่อได้หลังจากการบาดเจ็บ
  • สิ่งที่มองเห็น อาจจะมีอาการเข่าบวม ขยับเข่าลำบาก ขัด เจ็บ
  • หากหลังจากเกิดการบาดเจ็บแล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่งโดยที่ยังไม่ได้รับการรักษาจะมีความรู้สึกเหมือนเข่าหลวม ไม่มีความมั่นคงของข้อเข่าในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดินแล้วเข่าทรุดหรือไม่สามารถออกกำลังกายได้เท่าที่เคย

ซึ่งหากมีอาการเตือนดังกล่าวจะต้องรีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองข้อฉีกขาดตามมา ส่งผลให้เกิดอาการงอเข่าไม่ลง ปวดบริเวณข้อเรื้อรังและส่งผลต่อการใช้งานในอนาคต

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ก่อนมาพบแพทย์

หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เวลามีเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด คือ การลดการบวมที่เกิดขึ้นนะครับ อาจจะเป็นการประคบเย็น ทำให้เข่าเนี้ยมันอยู่กับที่นิ่ง ๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามนะครับ เช่น เฝือกอ่อน พวกนี้ก็จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ไม่ให้เข่ามีการบาดเจ็บมากขึ้น หรือมีเลือดออกในข้อเข่ามากขึ้น

นอกจากนั้นอาจจะเป็นการลดอาการปวดนะครับ เช่น การให้ยาลดอาการอักเสบ พวกนี้ก็จะช่วยให้เข่าลดการอักเสบ ยุบบวมลงเร็วขึ้น

ซึ่งขั้นตอนสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  1. นอนนิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับ หรือเคลื่อนไหวข้อเข่าให้น้อยที่สุด
  2. ประคบเย็นให้เร็วที่สุด
  3. ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า แล้วค่อย ๆ ลงน้ำหนัก
  4. สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็น ขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่
  5. ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายืดให้แข็งแรง
  6. หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือหมอ

สิ่งที่ต้องระวัง

การบาดเจ็บที่หัวเข่านั้นมีความเสี่ยง เมื่อยังไม่รู้สภาวะที่แท้จริง ไม่ควรใช้วิธีนวดแบบโบราณ และไม่ควรประคบร้อน เพราะการประคบร้อน ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เท่ากับเพิ่มปฎิกริยาที่กระตุ้นให้เลือดไหลเวียน ทำให้อาการบวมมากขึ้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและดูแลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ ถ้าอาการไม่หนักมากจนเกินไปก็สามารถปล่อยให้หายเองได้แต่ต้องดูแลอย่างถูกวิธี แต่ถ้าอาการหนักควรรีบไปพบแพทย์หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จทันที

 

 

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์ศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line