นิ้วล็อค รักษาได้ไม่ต้องผ่าตัด

โรคนิ้วล็อค เป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในความผิดปกติของส่วนแขนและมือ ซึ่งโรคนิ้วล็อคมักจะเป็นบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วนาง และนิ้วกลางบ่อยที่สุด โรคนิ้วล็อคเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วอักเสบและหนาขึ้น ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ มักเกิดกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจเป็นพร้อมกันหลายนิ้ว หรือนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง เป็นพร้อมกัน

โรคนิ้วล็อคเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

โรคนิ้วล็อค ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมาก เพราะว่ามีการใช้งานอย่างหนักเป็นเวลานาน เกิดจากการใช้งานมือทำงานในท่ากำมือ และแบอย่างแรงซ้ำ ๆ บ่อย ๆ โดยเฉพาะแม่บ้านจากการทำงานบ้าน ใช้นิ้วจับอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือผู้ที่ชอบเล่นกีฬากอล์ฟ แต่ระยะหลังอายุของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนิ้วล็อคเริ่มน้อยลง สาเหตุมาจากการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเล่นโทรศัพท์ การส่งไลน์

อาการนิ้วล็อค

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่โคนนิ้ว เมื่อต้องเหยียดหรืองอนิ้ว  ซึ่งจะมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับที่นิ้วไม่มีการล็อค แต่จะรู้สึกฝืดเวลาเหยียดหรืองอนิ้ว จนถึงระดับอาการรุนแรงที่นิ้วมือจะงอหรือเหยียดไม่ได้เลย

นิ้วล็อค แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

  1. ชนิดปฐมภูมิ (Primary Trigger Finger) คือ นิ้วล็อคที่เกิดขึ้นในคนปกติไม่มีโรคอย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง
  2. ชนิดทุติยภูมิ (Secondary Trigger Finger) คือ นิ้วล็อคที่เกิดขึ้นในคนที่เป็นโรคบางอย่างอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคข้ออื่น ๆ

อาการนิ้วล็อค แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้

ระดับที่ 1  นิ้วไม่มีการล็อค แต่นิ้วมือจะรู้สึกฝืดเวลาเหยียด หรืองอนิ้วมือในตอนเช้า หรือช่วงที่อาการเย็น

ระดับที่ 2 นิ้วมือมีเสียงดังเวลางอและเหยียด แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้ตามปกติ แต่จะเริ่มมีอาการปวดที่โคนนิ้ว

ระดับที่ 3 นิ้วมือจะมีเสียงดังเวลางอและเหยียด นิ้วมือเริ่มล็อค ต้องใช้มือด้านตรงข้ามมาช่วยเหยียดออก และจะเริ่มรู้สึกว่าปวด

ระดับที่ 4 นิ้วมือจะล็อค ทำให้ไม่สามารถเหยียดนิ้วหรืองอได้เลย

การรักษาโรคนิ้วล็อค ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

การรักษาโรคนิ้วล็อค มีหลายขั้นตอน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยระยะแรกสามารถรักษาได้ด้วยการทานยา ทำกายภาพบำบัด และฉีดยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะได้ผลดีในระยะ 4 – 6 เดือนแรก แต่ก็ต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมใช้นิ้วมือแบบเดิม ๆ และต้องหมั่นพักนิ้วมือบ่อยๆ แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด

ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถรักษาโรคนิ้วล็อคได้ด้วยการสะกิดนิ้ว โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลาในการสะกิดนิ้วล็อคประมาณ 3-5 นาที จะเป็นการใช้อุปกรณ์พิเศษในลักษณะเข็ม เข้าไปตัดตัวปลอดเส้นเอ็น ระหว่างทำหัตถการก็จะใช้วิธีการอัลตราซาวนด์ เพื่อให้เห็นเส้นเอ็น ปลอกเส้นเอ็น รวมถึงเส้นเลือดและเส้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ นั้น ได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการตัดปลอดเส้นเอ็นที่แน่น โดยจะต้องเป็นการทำที่กระทบกระเทือนเนื้อเยื่อใกล้เคียงให้น้อยที่สุด แผลจากการสะกิด จะเป็นแผลขนาดเล็กเท่ารูเข็ม เหมือนไปเจาะเลือด เพราะฉะนั้นเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ จะไม่ถูกกระทบกระเทือน เพราะเราตัดเฉพาะส่วนที่มีปัญหาเท่านั้น

ข้อดีของการรักษาโรคนิ้วล็อคด้วยการสะกิด

  1. สามารถรักษาโรคนิ้วล็อคให้หายได้
  2. ปวดน้อยกว่า
  3. แผลหายเร็ว ภายในไม่กี่ชม.
  4. ตัดปลอกเสร็จ นิ้วที่ล็อคก็สามารถกำและแบได้ทันที แต่อาจจะยังมีอาการเจ็บหรือตึงเล็กน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายได้ภายใน 2 สัปดาห์

การรักษาโรคนิ้วล็อคด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีเมื่อมีอาการในระยะที่ 1-2 หากมีอาการรุนแรง จนถึงระยะที่ 4 ผลของการรักษาก็จะไม่ดีเท่ากับการมารักษาตั้งแต่ระยะที่ 1-2 เพราะมีการยึดติดของข้อไปแล้ว

เมื่อรักษานิ้วล็อคแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม

การรักษาโรคนิ้วล็อค คือการรักษานิ้วใดนิ้วหนึ่ง พอเรารักษาไปแล้ว นิ้วนั้นก็จะไม่กลับมาเป็นอีก แต่ถ้ามีพฤติกรรมในการใช้งานนิ้วแบบเดิม ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคที่นิ้วอื่นข้างเคียงได้ หรืออาจจะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคข้อเสื่อม โรคมือชา ปลอดเส้นเอ็นที่ข้อมืออักเสบ เพราะฉะนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้งานลงเพื่อป้องกันโรคอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โรคนิ้วล็อคมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แนะนำให้ผู้ที่เริ่มเป็น ควรรีบมาพบแพทย์นะครับ

เพราะเรื่องกระดูกและข้อ รอไม่ได้
ปล่อยไว้เรื้อรัง อาจรักษายาก
ติดต่อศูนย์กระดูกและข้อ
02-441-6999
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line