นอนกรน..ทำยังไงดี?

นอนกรน ปัญหากวนใจของใครหลายคน อาการนอนกรนนอกจากจะสร้างความน่ารำคาญแล้ว ยังมีความเสี่ยงโรคร้ายอีกด้วย ซึ่งการนอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อย เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหานี้ นพ.วีระพล  กิมศิริ แพทย์ประจำคลินิกหู คอ จมูก รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนอนกรนไว้ว่า

ทำไมถึงนอนกรน ?

การนอนกรนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อที่ด้านหลังลำคอหย่อนตัวลงขณะนอนหลับและไปอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วนจนทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หรือบางคนที่มีช่องคอที่แคบอยู่แล้ว เมื่ออากาศเคลื่อนที่ผ่านทางเดินหายใจที่ตีบแคบในระหว่างนอนหลับ กล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ ทางเดินหายใจจะสั่นและทำให้เกิดเสียงกรนตามมา

ใครบ้างที่เสี่ยงที่จะนอนกรน?

การที่เราทุกคนนอนหลับ ต้องมีการหย่อนของกล้ามเนื้อบริเวณช่องคออยู่แล้ว ทำให้เกิดทางเดินหายใจแคบ แต่บางคนเกิดเสียงกรน บางคนไม่เกิดเสียกรน อันนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย โครงสร้างของช่องคอ และจากตัวโรคประจำตัว

การนอนกรนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเพศชายที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี เพราะเมื่ออายุมากขึ้น การหย่อนยานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ เมื่อเราหลับ ก็จะเกิดการหย่อนมากกว่าคนที่แข็งแรงทั่ว ๆ ไป

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการนอนกรนมากขึ้น เช่น มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือมีภาวะอ้วน ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก สูบบุหรี่ ใช้ยานอนหลับหรือยาระงับประสาท มีโครงสร้างคอที่ใหญ่ มีความตีบแคบของคอตั้งแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติบริเวณเพดานอ่อนและรูปหน้า มีต่อมทอมซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต เป็นต้น ก็จะเกิดเสียงกรนได้มากกว่าคนปกติ

นอนกรนอันตรายหรือเปล่า?

โดยปกติ อาการนอนกรน จะแบ่งง่าย ๆ เป็น 2  กลุ่ม

  • กลุ่มแรก อาการนอนกรนธรรมดา คือมีเสียงกรนเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีภาวะหยุดหายใจ ขณะที่นอนกรน
  • กลุ่มที่ 2  คือ การนอนกรนอันตราย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย  ซึ่งกลุ่มนี้จะผลกับผู้ป่วยค่อนข้างเยอะ และอาจจะมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวอื่น ๆ

ข้อสังเกตุอาการนอนกรน ที่เข้าข่ายอันตราย ต้องรีบไปพบแพทย์

เราสามารถสังเกตด้วยตัวเอง  หรือคนรอบข้างแบบง่าย ๆ

  1. ถ้าในกรณีที่เรารู้สึกว่านอนหลับเพียงพอ ครบตามชั่วโมงของเรา 6-8 ชั่วโมง ตามภาวะปกติ แต่เรายังรู้สึกว่าง่วงตลอดทั้งวัน
  2. มีภาวะหลับในขณะขับรถ
  3. ให้คนใกล้ตัวช่วยสังเกต ว่าถ้าตอนนอนเรากรน เรามี่อาการกรนหยุด นิ่ง หรือมีอาการเฮือกขึ้นมา ตื่นขึ้นมา แล้วก็กลับมานอนกรนใหม่ เป็นหลายรอบใน 1 คืนหรือเปล่า ถ้ามีอาการลักษณนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าเริ่มมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  4. หรือมีอาการกรนเสียงดัง หายใจลำบาก ตื่นขึ้นมากลางดึกเนื่องจากหายใจไม่ออก

ถ้าพบว่ามีอาการนอนกรนลักษณะนี้ ควรทำอย่างไร?

ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยแพทย์อาจตรวจสุขภาพการนอนหลับของผู้ป่วยด้วยการวัดระดับออกซิเจนในเลือด รวมถึงบันทึกการเคลื่อนไหว การกรน และการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นการตรวจที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจการนอนหลับ

หากตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้เครื่องมือในช่องปากแบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณหลังคอสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่มาก ใส่เครื่องดันอากาศแรงดันบวกทางจมูกหรือปากระหว่างนอนหลับเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ ซึ่งช่วยลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนและบรรเทาอาการกรนที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมาก รวมถึงการผ่าตัด การเจาะคอ หรือการใช้ยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เป็นต้น

วิธีรักษาปัญหานอนกรนโดยแพทย์

สำหรับผู้ที่นอนกรนในระดับรุนแรง หรือกรนเพราะมีปัญหาสุขภาพอย่างภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แพทย์อาจแนะนำให้แก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมกับการดูแลตนเอง ดังนี้

  • การใช้ยาแพทย์จะให้ยาเพื่อรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของการกรน เช่น ยาแก้แพ้หรือยาแก้คัดจมูก เพื่อบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกที่เกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรนเช่น ใช้แผ่นแปะจมูกที่เป็นเทปกาวขนาดเล็กแปะบริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง ใช้แผ่นแปะคางที่มีลักษณะเป็นแผ่นหรือเทปแปะใต้คางเพื่อป้องกันการอ้าปากขณะนอนหลับ ใช้เครื่องช่วยจัดตำแหน่งขากรรไกรล่างเพื่อเพิ่มพื้นที่ด้านในลำคอและป้องกันการตีบแคบของทางเดินหายใจ หรือใช้เครื่องมือทางทันตกรรมที่ช่วยยึดขากรรไกรส่วนบนและล่างเข้าด้วยกัน และเลื่อนขากรรไกรมาทางด้านหน้า ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้นในขณะที่นอนหลับ เป็นต้น
  • การผ่าตัดเป็นวิธีที่ทำให้กรนน้อยลงโดยเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่และเพดานอ่อนเพื่อกระชับเนื้อเยื่อบริเวณลำคอ ซึ่งบางกรณีอาจมีการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมแอดีนอยด์ร่วมด้วย การผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้เลเซอร์ การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุเพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อแข็งแรงขึ้น หรือการฝังพิลลาร์โดยฉีดเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ที่เพดานอ่อน เป็นต้น
  • การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันอากาศ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นการรักษาอาการนอนกรนโดยอาศัยหลักการเป่าความดันลมจากเครื่อง CPAP เข้าสู่จมูกหรือปากในขณะนอนหลับ เพื่อช่วยให้แรงดันอากาศไปขยายทางเดินหายใจส่วนบนตลอดระยะเวลาที่เปิดใช้เครื่อง เนื่องจากภาวะนอนกรนในทางการแพทย์มักเกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบกว่าปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจช่วยบรรเทาอาการนอนกรนให้ลดน้อยลง และลดความอ่อนเพลียในระหว่างวันจากการนอนหลับไม่สนิท การใช้เครื่อง CPAP โดยทั่วไปมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงแรงดันลมที่เหมาะสมต่อความรุนแรงของโรคและปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรระวัง

 

ติดต่อคลินิกหู คอ จมูก
02-441-6999

หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line