การตรวจหัวใจที่จะบอกได้ชัดเจน 100% ว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเปล่า คือการฉีดสีสวนหัวใจ ผู้ป่วยหลายท่านอาจจะกังวลว่า ฉีดสีสวนหัวใจมีขั้นตอนอย่างไร เจ็บไหม อันตรายหรือเปล่า นพ.วัฒนา บุญสม ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง รพ.วิชัยเวชฯ หนองแขม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
การสวนหัวใจ คืออะไร?
การสวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสี ฉีดเข้าทางสายสวนไปที่หลอดเลือดหัวใจ และถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ เพื่อดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และช่วยให้แพทย์วินิจฉัย
- ประเมินภาวะการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ
- การทำงานของลิ้นหัวใจ
- ความดันภายในหัวใจ
เมื่อไหร่ถึงจะฉีดสีสวนหัวใจ?
การฉีดสีสวนหัวใจ แพทย์ไม่ได้ทำให้กับคนไข้ทุกราย แต่ต้องพิจารณาจากข้อบ่งชี้ต่าง ๆ เช่น
- หลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง
- คนไข้มีภาวะหัวใจขาดเลือด
- ลิ้นหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
- เมื่อแพทย์ต้องการตรวจหาบริเวณที่มีรอยโรค หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ
- เพื่อเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
- หรือแพทย์พิจารณาแล้วว่า คนไข้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงจะเกิดปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจจะอันตรายถึงกับชีวิต
นอกจากนี้การฉีดสีสวนหัวใจ ยังช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้อีกด้วย
การเตรียมตัวก่อนการฉีดสีสวนหัวใจ
- ควรมาถึงศูนย์หัวใจ ก่อนเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมงเพื่อเตรียมตัว
- คนไข้จะต้องเซ็นชื่อยินยอมในการฉีดสีสวนหัวใจ
- มีญาติสายตรงที่สามารถตัดสินใจในการรักษาได้มาด้วย
- นำยาที่รับประทานประจำ แจ้งให้แพทย์ได้รับทราบ หรือนำยาติดมาด้วย ควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรับประทานอย่าต่อเนื่องได้ หรือควรหยุดยาเมื่อต้องทำการตรวจ
- หากมีประวัติแพ้ใด ๆ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- หากใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยา Warfarin ควรหยุดยาก่อนเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจ 5 วัน หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นต้องงดยาชนิดใดที่ใช้อยู่หรือไม่
- คนไข้จะได้รับการเจาะเลือด
- งดน้ำงดอาหารก่อนทำการฉีดสีสวนหัวใจ 4-6 ชั่วโมง
- ถอดเครื่องประดับออกให้หมด
- คนไข้จะได้รับการโกนขนทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการเจาะใส่สวยสวนหัวใจ
ขั้นตอนการฉีดสีสวนหัวใจ
การฉีดสีสวนหัวใจไม่ได้เป็นการผ่าตัดใหญ่ เป็นการตรวจโดยใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ระหว่างทำคนไข้รู้ตัวรู้เรื่องตลอด ขั้นตอนในการฉีดสีสวนหัวใจมีดังนี้
- ท่านจะได้นอนบนเตียงที่สามารถปรับระดับความสูง และปรับระดับทิศทางได้
- พยาบาลจะติดอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและวัดความดันโลหิต
- พยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณที่จะใส่สายสวน คือ บริเวณที่ข้อมือ หรือขาหนีบ แล้วแต่แพทย์จะพิจารณา ด้วยน้ำยาทำให้ปราศจากเชื้อ
- แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ ในจุดที่จะใส่สายสวนหัวใจ อาจจะเป็นที่แขนที่ข้อมือ หรือขาหนีบ
- หลังจากนั้นจะทำการใส่สวน ซึ่งเป็นสายเล็ก ๆ เข้าไปในหลอดเลือดในบริเวณดังกล่าว สายสวนมีลักษณะเป็นท่ออ่อนขนาดเล็ก หลังจากใส่ท่อเข้าไปแล้วอุปกรณ์ทุกอย่างจะผ่านไปตามเส้นเลือด ซึ่งเหมือนการให้น้ำเกลือ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเจ็บระหว่างการทำการตรวจ
- สายสวนที่เข้าไปจะผ่านไปถึงเส้นเลือดหัวใจที่ต้องการตรวจ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปตามหลอดเลือดหัวใจ พร้อมบันทึกภาพผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์ เพื่อจะดูว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ภาพที่ได้จะเห็นรายละเอียดของหลอดเลือดหัวใจอย่างละเอียด
- ขณะฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อนวูบวาบประมาณ 10-15 นาที หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียนให้รีบแจ้งแพทย์
- แพทย์จะทำการดึงสายสวนออก
- ระยะเวลาในการตรวจประมาณครึ่งชั่วโมง
หลังจากนั้นก็จะผลทราบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบแค่ไหน แล้วก็วางแผนการรักษาถัดจากนั้น ถ้าตีบมาก มีความจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม เช่น การทำบอลลูน หรือการผ่าตัดก็จะสามารถทำต่อหลังจากนั้นได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดสีสวนหัวใจ
- การแพ้สารทึบรังสี
- ไตวาย
- อัมพฤกษ์ อัมพาต
- เลือดออกมาจนต้องให้เลือดหรือผ่าตัดเร่งด่วน
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เสียชีวิต ซึ่งพบได้น้อยมาก ร้อยละ 1%
หลังจากฉีดสีสวนหัวใจ
- คนไข้จะต้องนอนพักในห้องพักผู้ป่วยเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
- พยาบาลจะวัดสัญญาณชีพ จับชีพจร และสอบถามอาการเป็นระยะ หากไม่มีอาการผิดปกติผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้
- จุดที่ใส่สายสวน หากเป็นบริเวณข้อมือ จะถูกกดห้ามเลือดด้วยสายรัดกดห้ามเลือดประมาณ 4 ชั่วโมง
- ห้ามขยับแขนข้างที่ทำหัตถการประมาณ 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออก
- หากจุดที่ใส่สายสวน คือบริเวณขาหนีบ จะถูกกดห้ามเลือดประมาณ 15-30 นาที และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ เมื่อเลือดหยุดจะใช้หมอนทรายทับแผลไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง คนไข้ต้องนอนราบ เหยียดขาข้างที่ใส่สายสวน ห้ามงอขาหรือลุกนั่งประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออก
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยขับสีที่ฉีดเข้าไปออกจากร่างกาย
- ไม่ให้แผลถูกน้ำ 3 วันจนกว่าแผลจะหาย ไม่ต้องทำแผล ยกเว้นแผลมีอาการบวมแดงหรือผิดปกติ
ฉีดสีสวนหัวใจต้องนอนโรงพยาบาลไหม
แพทย์อาจจะให้กลับบ้านภายในวันเดียวกัน หรืออาจให้นอนโรงพยาบาลประมาณ 1 คืน ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ หากไม่มีอาการแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้
ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา