การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ PACEMAKER

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ PACEMAKER เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยทั่วไปเครื่องกระตุ้นหัวใจจะช่วยแก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจที่เต้นช้ากว่าที่ควร เนื่องจากหัวใจที่เต้นช้ากว่าปกติ จะไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง บางรายอาจถึงขั้นหมดสติได้

เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ จะทำการส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจห้องที่ทำงานผิดปกติ สัญญาณไฟฟ้าจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในร่างกาย

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ทำได้ 2 วิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจากอายุ สุขภาพ โรคประจำตัว และรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย

  1. เครื่องกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจแบบชั่วคราว มีทั้งแบบใช้ภายนอกและภายในร่างกาย

แบบภายนอก : เป็นชนิดที่เครื่องที่ใช้ภายนอกร่างกาย โดยมีอิเล็กโทรดแปะติดอยู่ที่ผิวหนังบริเวณหน้าอกด้านหน้า หรือทั้งด้านหน้าและด้านหลังของอกซ้าย เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าออกจากเครื่องกระตุ้นหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัว

แบบภายใน : เป็นชนิดที่ตัวเครื่องอยู่ภายนอกร่างกาย แต่มีสายกระตุ้นไฟฟ้าที่ห้องหัวใจผ่านเส้นเลือดดำ เพื่อกระตุ้นหัวใจ เมื่อหัวใจผู้ป่วยไม่เต้นเป็นการชั่วคราว

  1. เครื่องกำหนดจังหวะการเต้นของหัวใจแบบถาวร เป็นการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ซึ่งเป็นตัวกำเนิดสัญญาณไฟฟ้า โดยจะทำการฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณทรวงอกด้านบน โดยแพทย์จะควบคุมการเต้นของเครื่องให้เหมาะสมกับการเต้นของหัวใจผู้ป่วยแต่ละราย

อาการแบบไหนต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

  • ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นช้า ที่มีอาการหน้ามืด หมดสติ และมีอัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างน้อยกว่า 45 ครั้ง/นาที
  • ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และมีผลทำให้เกิดหัวใจเต้นช้ามาก

ข้อดีของการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

  • ช่วยลดอาการจากการที่หัวใจเต้นช้า หรือหยุดเต้น ได้แก่ เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม
  • ช่วยในการควบคุมจังหวะหัวใจผิดปกติที่ซับซ้อน เช่น มีทั้งภาวะหัวใจเต้นผิดปกติแบบช้า และเร็วร่วมกัน

ส่วนประกอบของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ประกอบไปด้วย

  • แบตเตอรี่
  • ตัวส่งสัญญาณไปกระตุ้นหัวใจ
  • สายสื่อสัญญาณไฟฟ้า

โดยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ จะทำงานโดยตัวส่งสัญญาณจะส่งสัญญาณไฟฟ้าไปปรับให้หัวใจเต้นในจังหวะที่เร็วขึ้น ส่วนสายสื่อสัญญาณไฟฟ้าจะเป็นตัวรับและส่งสัญญาณระหว่างเครื่องกับหัวใจห้องต่าง ๆ

การเตรียมตัวก่อนใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

  • งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • ถอดอุปกรณ์ หรือเครื่องประดับต่าง ๆ เก็บไว้ เช่น เครื่องช่วยฟัง ฟันปลอม แว่นตา สร้อย ต่างหู เป็นต้น
  • เจ้าหน้าที่จะโกนขนบริเวณหน้าอก ข้างที่จะใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ กรณีที่ถนัดขวาจะใส่ข้างซ้าย ถ้าถนัดซ้ายจะใส่ข้างขวา

การปฎิบัติตนภายหลังการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

  • เมื่อใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปในร่างกายเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยต้องพักในหออภิบาลผู้ป่วย เพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด
  • ไม่ควรยกแขนข้างเดียวกับที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจขึ้นสูงเหนือไหล่
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก
  • ห้ามยกของหนักอย่างน้อย 1 เดือน
  • พบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษา

ข้อควรระวังของการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแบบถาวร

การใช้โทรศัพท์มือถือ

            • ควรถือโทรศัพท์ หรือใช้งานโทรศัพท์ในด้านตรงข้ามกับที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือถือให้ห่างจากตัว ประมาณ 6 นิ้ว
            • ไม่พกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋าเสื้อด้านเดียวกับที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือแขวนโทรศัพท์ไว้ที่คอใกล้กับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

การตรวจรักษา

            • หากต้องตรวจด้วยเครื่อง MRI หรือต้องผ่าตัดด้วยการฉายแสง ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

การเดินทาง

            • ควรพกบัตรประจำตัว ผู้ได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเสมอ แสดงบัตรเมื่อต้องผ่านบริเวณที่มีประตู หรือการใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจหาอาวุธ หรือโลหะ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

            • อุปกรณ์ช่างที่มีกำลังมอเตอร์สูง มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง เช่น เลื่อยไฟฟ้า เครื่องเชื่อมโลหะ
            • ไม่เข้าใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องกำเนิดพลังงาน (ไฟฟ้า) ขนาดใหญ่ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าเตาหลอม
            • ไม่เข้าใกล้บริเวณหอและเครื่องส่งในสถานีโทรทัศน์ หรือวิทยุ

เมื่อใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแล้ว แล้วมีความเสียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

  • ในระยะสั้น แผลบริเวณใส่เครื่องอาจมีอาการบวมช้ำได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย
  • สายมีการเลื่อน หรือหลุดออกจากตำแหน่งได้ (พบได้น้อย)
  • หัวใจเต้นผิดปกติซึ่งสัมพันธ์กับการใส่เครื่อง (พบได้น้อย)

สังเกตอาการผิดปกติ หลังใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

  • มีเลือดออก ปวด หรือบวมบริเวณที่ใส่เครื่อง
  • มีไข้
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจติดขัด

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line