การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำวิธีการการรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตามความรุนแรงของโรค โดยวิธีการรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีใหญ่ ๆ คือ

1. รักษาด้วยการทานยา กรณีนี้คือคนไข้มีหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน ซึ่งยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจจะมีหลายชนิด คนไข้จะต้องเข้ามาพบอายุรแพทย์ทางด้านโรคหัวใจเพื่อปรับยาตลอดระยะเวลาในการรักษา และผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง

ข้อความระวัง : ทานยาผิด ทานยาไม่ครบ ทานไม่ตรงเวลา อาจจะทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

บางท่านอาจจะได้รับยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่มีทั้งแบบยาอมใต้ลิ้น หรือชนิดพ่น ยา 2 ตัวนี้จะใช้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น มีอาการแน่นหน้าอกกระทันหัน แต่หากใช้ยาอมใต้ลิ้นไปแล้ว 2 เม็ด ห่างกัน 5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบพาผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลทันที เนื่องจากถือว่าเป็นภาวะวิกฤติที่มีความรุนแรง

2. ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน จะทำในกรณี หลอดเลือดอุดตันมาก ซึ่งเป็นการรักษาโดยการใช้อุปกรณ์เล็ก ๆ เข้าไปในหลอดเลือด แล้วทำการขยายบอลลูน ณ ตำแหน่งรอยตีบ และปล่อยขดลวดข้างไว้ ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดที่ทำการขยายไว้ไม่ยุบตัว โดยหลังการรักษา คนไข้จะต้องมีการรับประทานยา ในกลุ่มที่เป็นยาละลายลิ่มเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ขดลวดตัน อยู่ในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปีอย่างเคร่งครัด ซึ่งถ้าทานยาไม่ครบตามที่คุณหมอสั่ง ก็อาจจะส่งผลให้เส้นเลือดตีบตันอีกได้ วิธีการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนถือเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด

3. การผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ วิธีนี้คุณหมอจะเลือกใช้ เมื่อพิจารณาแล้วว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหลายตำแหน่ง  หรือในแง่เทคนิคไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้

การผ่าตัดบายพาสจะเป็นเหมือนการสร้างทางเดินให้เลือดใหม่ โดยจะนำมาจากหลอดเลือดในร่างกายของคนไข้เอง ได้เอง หลอดเลือดที่ขา หรือหลอดเลือดแดงที่แขน เพื่อเอามาต่อคร่อมเส้นเลือดที่ตีบทำให้เลือดมีทางเดินทางใหม่ และสามารถนำเลือดไปเลี้ยงส่วนที่ขาดเลือดได้

ผู้ป่วยมีอาการหนักมากหรือน้อยระดับไหน ถึงจะเลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

ปกติแล้วคนไข้กว่า 80% จะสามารถรักษาได้โดยการทานยา อีกประมาณ 15% ของไข้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด ก็จะรักษาด้วยการทำบอลลูน มีเพียง 5% ที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการที่จะพิจารณาใช้วิธีการรักษาแบบไหน จะต้องรู้ก่อนหว่าหลอดเลือดตีบมากน้อยขนาดไหน มีจำนวนเส้นของหลอดเลือดที่ตีบกี่เส้น หรืออาการตีบเกิดกับหลอดเลือดที่มีความสำคัญมากหรือน้อยขนาดไหน ซึ่งถ้าเกิดการตีบหลายเส้น หรือเกิดในตำแหน่งที่สำคัญมาก ๆ การทำบอลลูนก็คงไม่ได้ผล หรืออาจจะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือให้ผลการรักษาระยะยาวเทียบไม่ได้กับการทำผ่าตัดบายพาส

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองลงมาจากโรคมะเร็ง หากรู้ตัวว่าเป็นแล้วต้องมีการดูแลตนเองเป็นอย่างดี เพื่อยืดอายุของคนไข้ให้ยาวนานขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากกระทำได้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถต่อเวลาชีวิตออกไปได้

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

 

Line