หัวใจโต เกิดจากอะไร?

หัวใจโต  (Cardiomegaly) ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติ ทั่วไปจะเรียกว่า ภาวะหัวใจโต เพราะขนาดของหัวใจทุกคนจะมีขนาดเท่ากับกำปั้น หัวใจโตสาเหตุเกิดได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่มาจาก ความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ และสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้การทำงานของหัวใจบกพร่องได้

ใครบ้างที่เสี่ยงหัวใจโต

  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ , โรคหัวใจเต้นผิดปกติ, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด,โรคลิ้นหัวใจ
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่มีอาการของโรคอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไป หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน

ภาวะหัวใจโต มีอาการอย่างไร?

ภาวะหัวใจโตในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือกรณีที่เป็นภาวะหัวใจโต จากโรคอื่น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจตีบ หัวใจรั่ว อาการที่เจอก็อาจมีเหนื่อยหอบผิดปกติ เพราะฉะนั้นอาการของภาวะหัวใจโตมักจะขึ้นกับโรคที่เป็น แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีพอก็อาจทำให้มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้

  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • หายใจเร็ว
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย
  • ใจสั่น
  • ไอเวลานอน
  • บวมบริเวณเท้าตอนสาย ๆ
  • นอนราบไม่ได้เนื่องจากแน่นหน้าอก

ภาวะหัวใจโต รักษาหายไหม?

โดยทั่วไปถ้าหัวใจโตแล้ว โอกาสจะหายน้อย มีแค่เพียงภาวะเดียว ที่เป็นภาวะที่เรียกว่า โรคหัวใจจากการขาดวิตามิน B1 ซึ่งเจอในคนที่ติดเหล้ามาก ๆ  พวกนี้ขาดสารอาหาร พอให้วิตามิน B1 แล้วก็งดเหล้าอาการก็จะดีขึ้น แต่ว่าโดยทั่วไปถ้าเป็นปัญหาอื่น เช่น ความดันสูง หัวใจโต หรือว่าลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โอกาสจะดีขึ้นค่อนข้างน้อย แต่ว่าการรักษา ก็เป็นการรักษาตามโรค ซึ่งควรต้องเข้ารับการรักษา ไม่เช่นนั้นอาการก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

วิธีการรักษาภาวะหัวใจโต

เบื้องต้นต้องหาสาเหตุของโรคก่อน โดยคุณหมอจะทำการรักษาตามสาเหตุและอาการ ซึ่งรูปแบบการรักษา มีทั้งการใช้ยารักษาตามโรคที่พบ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือถ้าโรคหัวใจโต จากลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว อาจจะต้องรักษาด้วยยา หรือการรักษาโดยการผ่าตัดแก้ไข ถ้ามีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งหลอดเลือดหัวใจโต กล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาก็อาจจะกินยารักษาโรคหัวใจตีบ หรือต้องไปฉีดสีที่ศูนย์หัวใจ ทำบอลลูน หรือผ่าตัดแก้ไข ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น

ยกตัวอย่างการรักษาตามสาเหตุและอาการ เช่น

  • สาเหตุจากโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง
    การรักษา: การใช้ยาตามโรคนั้น ๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • สาเหตุมาจาก โรคลิ้นหัวใจ
    การรักษา : การผ่าตัด
  • สาเหตุมาจาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะหัวใจเสียจังหวะ
    การรักษา : ใช้เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

หรือหากมีอาการอื่น ๆ เช่น บวม,หายใจเร็วหรือหอบ ไอ ก็จะต้องรักษาตามอาการของโรค เพื่อช่วยให้ภาวะหัวใจไม่โตขึ้นกว่าเดิม

การตรวจหาเพื่อหาสาเหตุของโรค คุณหมออาจจะให้การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือวินิจฉัยด้วยการการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ส่วนการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) ช่วยให้เห็นห้องหัวใจและสามารถวัดขนาดได้ว่าโต หรือไม่ การตรวจชนิดนี้ช่วยให้เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจ ลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ และความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ

การดูแลเมื่อเป็นภาวะหัวใจโต

  1. ทานยาตามแพทย์สั่ง
  2. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่นงดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ
  3. ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. รักษาและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโต

 การป้องกันภาวะหัวใจโต

  • ท่านที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อ้วน ไม่ได้ออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ท่านที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยา และปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด
  • ประวัติโรคทางพันธุกรรมของครอบครัว หากมีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
  • รักษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

ฉุกเฉินโรคหัวใจ
เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หมดสติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ติดต่อศูนย์หัวใจวิชัยเวช 24 ชั่วโมง
02-441-6999 ต่อ 5555
หรือ ติดต่อได้ผ่านช่องทางไลน์ได้ง่ายๆ  Line
หรือ สามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษา

Line